อุตฯ กระตุ้นเอสเอ็มอี ปรับตัวรับเทคโนโลยี '5จี'

อุตฯ กระตุ้นเอสเอ็มอี  ปรับตัวรับเทคโนโลยี '5จี'

กสอ. ดึงบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ 21 ราย ยกระดับเทคโนโลยีเอสเอ็มอี เข้าสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น 2,000 ราย และปรับตัวสู่ยุค 5จี เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้เร็วขึ้น โดยเงื่อนไขความสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่การปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี ให้สามารถเพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มช่องทางการบริการ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการต่างๆ

นอกจากนี้ ในการผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ก็จะเป็นการปูพื้นฐานเพื่อให้ปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีที่จะเข้ามาในไทยภายในปีนี้ ซึ่ง 5จี จะทำให้เอสเอ็มอีไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ง่ายและประหยัดมากขึ้น ต้นทุนในการติดตั้งระบบไอโอที และเซ็นเซอร์ต่างๆจะถูกลง ซึ่งในยุค 4จี เอสเอ็มอีเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ยาก

“ที่ผ่านมาเทคโนโลยี 4จี ทำให้การวิดีโอสตรีมมิ่งได้ง่ายขึ้น จึงเกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆ ในธุรกิจออนไลน์ และเกิดยูทูปเบอร์ขึ้นมากมาย เด็กรุ่นใหม่เข้ามาสู่ธุรกิจเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เทคโนโลยี 5จี ก็เช่นกัน ที่จะเข้ามาปิดจุดอ่อนของ 4จี ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และทำให้เอสเอ็มอีที่เข้าถึง 5จี จะขยายโอกาสทางธุรกิจและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว”

ดังนั้น กสอ.ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตและให้บริการซอฟต์แวร์ที่เป็นของคนไทยจัดงาน Digital Day : D-Day ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ติดต่อเชื่อมโยง เจรจาธุรกิจ มีการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อนำซอฟต์แวร์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดย กสอ.ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยและสตาร์ทอัพ 21 ราย นำซอฟต์แวร์การประมวลผลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

โครงการนี้จะช่วยปิดจุดอ่อนแบบเดิมที่ กสอ.จะเป็นผู้ดำเนินการเขียนโปรแกรมซอฟท์แวร์เองแล้วให้เอสเอ็มอีนำไปใช้ แต่ภายหลังที่หมดโครงการไม่มีงบประมาณสนับสนุน ทำให้ซอฟท์แวร์เหล่านี้ไม่ถูกพัฒนาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถใช้ซอฟท์แวร์เหล่านี้ต่อไปได้ 

158039089670

รวมทั้งจะมีผู้ผลิตซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของเอสเอ็มอีทั้งการเงินการบัญชี ด้านบริหารการขาย ด้านบริหารการจัดซื้อการบริหาร เช่น ซอฟท์แวร์ด้านบัญชี , การบริหารจัดการอพาร์ทเม้นต์ , ซอฟท์แวร์ควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง , ซอฟท์แวร์การบริหารจัดการ , ซอฟท์แวร์บริหารจัดการขนส่ง , แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า

เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะนำซอฟท์แวร์ไปใช้ได้มากกว่า 1 ซอฟท์แวร์ ซึ่งจะเปิดให้ใช้ฟรีอย่างเต็มรูปแบบโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นหากพึงพอใจก็จะติอต่อซื้อซอฟท์แวร์เหล่านี้มาใช้งานต่อไป

การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการนำร่องเปิดให้ผู้ผลิตซอฟท์แวร์ 21 ราย เข้ามาให้บริการกับเอสเอ็มอี หลังจากนี้จะมีผู้ผลิตซอฟท์แวร์เข้าร่วมอีกมาก รวมทั้งเอสเอ็มอีเสนอซอฟท์แวร์ที่ต้องการเฉพาะทางให้กับ กสอ. เพื่อที่จะไปสรรหามาให้เอสเอ็มอีได้นำไปใช้ ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ง่ายขึ้น โดยจะมีเอสเอ็มอีเข้ามาใช้ระบบดิจิทัลในการปรับปรุงธุรกิจไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย

“ที่ผ่านมาในการจัดอันดับความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ไทยจะมีจุดอ่อนในเรื่องประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยเพิ่มขึ้นได้ยาก ซึ่งการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ก็จะช่วยยกระดับการแข่งขันโดยรวมของไทยให้ดีขึ้น”

ส่วนเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด กสอ. จะเข้าไปจัดงาน Digital Day ที่ จ.นครราชสีมา และหัวเมืองอื่นๆ 1-2 ครั้ง ซึ่งเอสเอ็มอีสามารถเข้ามาลงทะเบียนเป็นสมาชิกในระบบ i-Industry

นายไผท ผดุงถิ่น CEO & Co-Founder บริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด และบริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยี 5จี น่าจะเปลี่ยนทั้งหมดไม่ได้เปลี่ยนแค่เรื่องดิจิทัล 5จี จะทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน บิสเนตโมเดลก็ต้องเปลี่ยนทั้งหมด ไม่ใช่ใช้บิสเนตโมเดลเดิมลูกค้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมแบบ4จี 

ดังนั้นถ้าใครทำก่อนก็จะได้เปรียบหรืออาจจะเจ็บก่อน แต่ถ้าไม่ทำเลยก็จะไม่ได้ตลาด ความเสี่ยงเอสเอ็มอีต้องดูให้ถูกมุม เตรียมตัวเปลี่ยนแปลง หากไม่เปลี่ยนก็อยู่ในแพลตของคนอื่นเล็กเท่าเดิม แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะหาโอกาสใหม่กระโดดขึ้นไปสูงได้

เอสเอ็มอีไทยควรมองบทเรียนในอดีตที่เข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ทัน แต่ในยุค 5 จี ต้องคิดตั้งแต่แรกไม่ปล่อยให้ช้าอีก ถ้าไม่ปรับก็จะตามคนอื่นเหมือนเดิม เราไม่สามารถพาทุกคนไปสู่ 5 จีได้ จะมีเพียงคนทีตั้งในและปรับเปลี่ยนจึงจะไปได้ ซึ่งเราจะเห็นฮีโรเอสเอ็มอีไทยยุค 5จี เกิดขึ้นหลายราย หากบางคนปรับตัวในระดับกลางก็หาที่อยู่ได้ แต่ไม่ได้เป็นผู้นำ หากไทยไม่เร่งปรับตัวก็จะตามประเทศเพื่อบ้านที่ไปได้ดีกว่า เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย มากยิ่งขึ้น

ยุค 4จี จะทำให้ภาคขายภาคการตลาดเปลี่ยนไปมากแล้ว ปรับไปสู่คอนเทนดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง โซเชียลมีเดีย แค่เพียงจะเร็วขึ้น 100 เท่า จะไม่ต่างกันมากนัก แต่ 4จี ไม่ได้ทำให้กระบวนการดำเนินธุรกิจ หรือโมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป โครงสร้างการบริการเปลี่ยนไป แต่ 5จี จะทำให้โครงสร้างกระบสนการทางธุรกิจเปลี่ยนไปหมด รวมทั้งจะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงอุตสาหกรรม 4.0 ได้ง่ายขึ้น

“ถ้าโครงสร้างพื้นฐาน 5จีไทยพร้อม แต่ผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ต่างชาติก็จะได้รับประโยชน์มากกว่า ส่วนคนไทยก็จะได้ประโยชน์น้อยเป็นผู้บริโภคขั้นปลายน้ำท้ายๆ เหมือนในปัจจุบันที่คนไทยเป็นได้เพียงผู้ขับรถมอเตอร์ไซดฺขนส่ง ในธุรกิจโลจิกติกส์ออนไลน์ข้ามชาติ ไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่ได้รับประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าไทยขยับเร็วก็จะอยู่ต้นน้ำได้ประโยชน์สูงสุด”