ถล่มขาย 'แอดวานซ์-อินทัช' แพ้คดี 'ทีโอที' พื้นฐานไม่สะเทือน-ยังสู้กันอีกยาว

ถล่มขาย 'แอดวานซ์-อินทัช' แพ้คดี 'ทีโอที' พื้นฐานไม่สะเทือน-ยังสู้กันอีกยาว

กรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาสัมปทานในธุรกิจโทรคมนาคมมีให้เห็นกันบ่อยๆ เหมือนลิ้นกับฟันที่ต้องกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องปกติ

อย่างคดีล่าสุดที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จ่ายเงินชดเชยให้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 31,076 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 1.25% ต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2558

ที่มาของคดีนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2558 หลัง ทีโอที ได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการเรียกร้องให้ แอดวานซ์ ชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม จากการทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งที่ 6 กรณีการลดส่วนแบ่งรายได้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (Prepaid)

และครั้งที่ 7 กรณีการหักค่าใช้จ่ายการใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) ซึ่ง ทีโอที มองว่า เป็นการแก้ไขสัญญาในสาระสำคัญ และทำให้ทีโอทีได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาหลัก จึงฟ้องเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินทั้งหมด 62,774 ล้านบาท

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะอนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินชี้ขาดในคดีนี้ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ให้แอดวานซ์แพ้คดี และต้องชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับทีโอที แน่นอนเมื่อผลการตัดสินออกมาเป็นลบต่อเอกชนแบบนี้ จึงทำให้นักลงทุนถล่มขายหุ้น ADVANC อย่างหนักตลอดการซื้อขายเมื่อวานนี้ (30 ม.ค.) โดยราคาหุ้นลงมาปิดที่ 203 บาท ลดลง 11.00 บาท หรือ 5.14% ระหว่างวันลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 201 บาท ด้วยวอลุ่มที่มากถึง 4,280 ล้านบาท นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง

ที่สำคัญแรงขายไม่ได้มีแค่ ADVANC ตัวเดียวเท่านั้น เพราะไปดึงหุ้นแม่ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ลงมาด้วย ปิดซื้อขายที่ 55.75บาท ลดลง 2.50 บาท หรือ 4.29% ระหว่างวันทำจุดต่ำสุดที่ 54.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,041 ล้านบาท เพราะแน่นอนว่าเมื่อลูกแพ้คดีต้องจ่ายเงินให้คู่กรณี ส่วนแบ่งกำไรที่จะให้บริษัทแม่จะลดลงตามไปด้วย

แรงถล่มขายหุ้น ADVANC และ INTUCH ที่ถูกเทกระจาดอย่างหนักเมื่อวานนี้ ถือเป็นการตอบรับข่าวลบที่เข้ามา แต่ถามว่าจะกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานทันทีหรือไม่ ? คำตอบ คือ “ยังไม่กระทบ” เป็นเพียงจิตวิทยาเชิงลบช่วงสั้น เพราะคดีความแบบนี้ยังต้องสู้กันในชั้นศาลอีกยาวหลายปีเลยทีเดียว

กระบวนการในชั้นอนุญาโตตุลาการถือเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้น สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ในชั้นศาลได้ ซึ่งทาง แอดวานซ์ ประกาศว่าจะขอสู้คดี โดยจะดำเนินการยื่นคำร้องเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครองต่อไป ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 

และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยๆ 3-5 ปี เพราะต้องไปสู้กันต่ออีก 2 ศาล คือ ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ซึ่งผลการตัดสินก็มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นบวกต่อ ADVANC ได้ เพราะดูจากคะแนนเสียงในชั้นอนุญาโตตุลาการก็ใกล้เคียงสูสีกันมาก ดังนั้น หนังเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ ต้องรอติดตามกันไปอีกยาวหลายปี

ส่วนถามว่าในกรณีเลวร้ายสุดจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากเมื่อไปสุดทางแล้ว ผลการตัดสินยังเหมือนเดิมว่า “แอดวานซ์แพ้คดี” แน่นอนคงต้องมีการตั้งสำรองขึ้นมาก้อนหนึ่งในงบกำไรขาดทุน ทีนี้ก็จะส่งผลกระทบมาถึงพื้นฐาน โดย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หากบริษัทแพ้คดีและต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับทีโอที ตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ถ้าใช้สมมติฐานคำนวณดอกเบี้ยส่วนเพิ่มถึงปัจจุบันเดือน ม.ค. 2563 จะคิดเป็นรายจ่ายราว 4.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นผลกระทบต่อราคาพื้นฐาน 14 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม ในทางพื้นฐานฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำซื้อลงทุน ด้วยจุดเด่นความั่นคงสูงจากการเป็นผู้นำของกลุ่ม อาศัยจังหวะราคาหุ้นอ่อนตัวเข้าไปรับ

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า มูลค่าผลกระทบหากบริษัทแพ้คดีและต้องจ่ายเงินชดเชยให้ทีโอทีสูงถึง 10.45 บาทต่อหุ้น ในกรณีที่ยังไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งหากรวมดอกเบี้ยแล้วจะกระทบราคาพื้นฐานราว 13.00 บาท กลายเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อราคาหุ้นวานนี้ (30 ม.ค.)

แต่คดีนี้ยังคงต้องใช้เวลาตัดสินกันอีกหลายปี ซึ่งบริษัทอาจมีโอกาสพลิกกลับมาชนะคดีได้ในชั้นศาล ดังนั้น ในแง่พื้นฐาน เมื่อคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ยังคงประมาณการราคาเหมาะสมไว้ที่ 260.00 บาทต่อหุ้น