กสทช.ไร้ข้อสรุปเยียวยา 2600 สั่งจุฬาฯประเมินค่าเสียโอกาส

กสทช.ไร้ข้อสรุปเยียวยา 2600 สั่งจุฬาฯประเมินค่าเสียโอกาส

ตีกลับ จุฬาฯ ไปศึกษาเพิ่ม เสนอกสทช.ไม่เกิน 12 ก.พ.จากนั้นจะเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.วาระพิเศษ 13 ก.พ.-14 ก.พ.นี้ มั่นใจได้ข้อสรุปก่อนประมูลคลื่น 16 ก.พ.

กสทช.ยังไม่สรุปเคาะเงินเยียวยาคลื่น 2600 ให้ อสมท หลังผลศึกษาของ 3 สถาบันจบราคาไม่ลงตัว หลังคำนวณบนพื้นฐานจำนวนเมกะเฮิรตซ์ไม่เท่ากัน สุดท้ายเลือกผลของจุฬาฯ จ่ายให้ 3,000 ล้านบาท แต่ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมค่าเสียโอกาส เสนอกสทช.ไม่เกิน 12 ก.พ.จากนั้นจะเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.วาระพิเศษ 13 ก.พ.-14 ก.พ.นี้ มั่นใจได้ข้อสรุปก่อนประมูลคลื่น 16 ก.พ. ย้ำคลื่นไม่มีการใช้งาน ผู้ชนะประมูลนำคลื่นไปใช้ได้ทันที

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ได้ พิจารณาการปรับปรุงรายงานผลการพิจารณาและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อทดแทน ชดใช้และจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ของคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 โดยที่ประชุมกสทช. มีมติรับทราบการปรับปรุงรายงานผลพิจารณา และเสนอความคิดเห็นฯ ดังกล่าว และมีมติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเสนอเงินเยียวยามาประมาณ 3,000 ล้านบาทไปศึกษาเพิ่มเติม

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียโอกาสของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และให้นำผลศึกษามาเสนอสำนักงานกสทช.ไม่เกินวันที่ 12 ก.พ. เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.วาระพิเศษภายในวันที่ 13 หรือ 14 ก.พ.นี้ ขอให้เอกชนผู้เข้าร่วมประมูลคลื่น 5จีไม่ต้องกังวล เนื่องจากคลื่นไม่ได้ใช้งานและข้อสรุปเงินเยียวยาจะได้ข้อสรุปก่อนการประมูลวันที่ 16 ก.พ. 2563 นี้ แน่นอน

“ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้จ้าง 3 สถาบันคิดราคาเยียวยา ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่จุฬาฯมีการเสนอผลการศึกษาที่ครบถ้วนมากที่สุด แต่คณะกรรมการกสทช.เห็นว่าต้องศึกษาเรื่องค่าเสียโอกาสและเหตุผลต่างๆให้รอบด้านเพื่อให้กสทช.สามารถตอบคำถามหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ”

สำหรับคลื่น 2600 ที่จะนำออกมาประมูลในวันที่ 16 ก.พ. นี้ มีจำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์เป็นของ กองทัพบก 12 เมกะเฮิรตซ์ และกรมประชาสัมพันธ์ 32 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งได้เรียกคืนมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่จะต้องเรียกคืนและเยียวยาให้ อสมท มีจำนวน 146 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งไม่มีการใช้งานแล้ว นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม จำนวน 3 ฉบับ โดยจะนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป