ค่ายมรณะเอาชวิตซ์ ‘75 ปีโลกไม่ลืม’

ค่ายมรณะเอาชวิตซ์ ‘75 ปีโลกไม่ลืม’

ค่ายมรณะเอาชวิตซ์ ‘75 ปีโลกไม่ลืม’ ขณะเมเอียร์ ชโลโม ระบุว่า ในสายตาของชาวยิว เอาชวิทซ์ ยังเป็นเครื่องหมายของความไร้ซึ่งอำนาจ เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อคนเราไม่มีสิทธิ์มีเสียง

การที่มนุษย์ฆ่ามนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ทั้งผิดกฎหมายและศีลธรรม แต่เกือบ 80 ปีก่อน ชาวยิวเป็นชนชาติแรกที่ตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความจริงเปิดเผยขึ้นในวันที่ 27 ม.ค.2488 เมื่อกองทัพแดงแห่งโซเวียตบุกยึดค่ายเอาชวิทซ์ในโปแลนด์ ความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำกับมนุษย์ด้วยกันจึงถูกเปิดเผยออกสู่ชาวโลก

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 27 ม.ค.ของทุกปีเป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล ที่ชาวยิวหกล้านคนและผู้บริสุทธิ์อีกห้าล้านคน ตกเป็นเหยื่อของการสังหารอย่างเป็นระบบโดยนาซี ปีนี้พิเศษตรงที่ครบรอบ 75 ปีการปลดปล่อยค่ายมรณะเอาชวิตซ์ รำลึกถึงวันเกิดปีที่ 90 และครบรอบ 75 ปีของการจากไปของแอนน์ แฟรงค์เด็กหญิงชาวยิวที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้เขียนบันทึกประจำวัน ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือบรรยายเหตุการณ์ขณะหลบซ่อนตัวจากการล่าชาวยิวในประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

พิธีรำลึกจัดขึ้นทั้งที่นครเยรูซาเล็มของอิสราเอลและโปแลนด์ ส่วนในประเทศไทยสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก(เอสแคป) จัดพิธีรำลึกเมื่อวันที่ 28 ม.ค.

เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานว่า ประชาชน 1.5 ล้านคนถูกสังหารในค่ายนรกเอาชวิทซ์ ในจำนวนนี้เป็นชาวยิว 1.1 ล้านคน

“ในสายตาของชาวยิว เอาชวิทซ์ยังเป็นเครื่องหมายของความไร้ซึ่งอำนาจ เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อคนเราไม่มีสิทธิ์มีเสียง ไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่มีแผ่นดินเป็นของตนเอง ปัจจุบันพวกเรามีสิทธิ์มีเสียงทั้งยังได้รับความคุ้มครองและมีแผ่นดินที่เราฟื้นคืนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง กระนั้นในวันนี้เราก็ยังมีคำถามคาใจ ว่ามนุษยชาติได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้หรือไม่”

ถ้อยแถลงของชโลโมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หากมองย้อนไปในช่วงไม่กี่ปีหลัง เกิดการโจมตีต่อต้านชาวยิวหลายครั้งในประเทศยุโรป ผลพวงจากแนวคิดขวาจัดต่อต้านชาวยิวและชนกลุ่มน้อยเติบโตขึ้น ข้อมูลจากรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า จำนวนอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวยิวเมื่อปี2561 อยู่ที่ 1,646 คดี เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2560

วันที่ 9 ต.ค.2562 มือปืนวัย 27 ปี บุกกราดยิงโบสถ์ของชาวยิวในเมือง Halle ของรัฐเซกโซนี่-อัลฮัลท์ ทางตะวันออกของเยอรมนี พร้อมไลฟ์ผ่านเว็บ Twitch ระหว่างก่อเหตุ หรือช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา คนร้ายใช้มีดพร้าบุกเข้าไปภายในบ้านของพระยิวที่เมืองมอนซีย์ รัฐนิวยอร์กของสหรัฐ แล้วทำร้ายผู้คนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน

“นี่เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่ามนุษยชาติไม่ได้เรียนรู้อย่างแท้จริงถึงบทเรียนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ข้อเท็จจริงที่ว่าเรายังมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบแล้ว เตือนใจว่าเราต้องทำให้ดีกว่านี้ วิธีเดียวที่จะทำให้ดีขึ้นได้ก็ต้องให้การศึกษา โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ สอนให้รู้ว่าคนเราควรอดทนอดกลั้นไม่เลือกปฏิบัติ เราต่างเท่าเทียมกันแม้แตกต่าง” ทูตอิสราเอลกล่าวนอกรอบถึงเหตุทำร้ายชาวยิวที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐ เป็นเพราะคนบางคนในสังคมรู้สึกถึงความไม่มั่นคงและมีอคติทั้งต่อชาวยิวและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่น่ากังวลคือความไม่พอใจอาจเริ่มต้นที่ชาวยิวก่อน แต่สุดท้ายแล้วจะส่งผลเสียหายต่อสังคมนั้นๆ และคุณค่าประชาธิปไตยด้วย ซึ่งผู้นำโลกก็เข้าใจเรื่องนี้ดี

กรณีประเทศไทยที่คนดังหลายคนเคยสวมเสื้อผ้ามีสัญลักษณ์นาซี ชโลโมมองว่า เหตุแบบนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งและนั่นไม่ใช่ความรู้สึกต่อต้านยิว แต่เป็นเพราะการขาดข้อมูล ขาดความตระหนักรู้ถึงความหมายของสัญลักษณ์นาซี จะแก้ไขได้ก็ด้วยการศึกษา บอกให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับโฮโลคอสต์

“สามสิ่งที่เราต้องทำคือ การศึกษา การศึกษา และการศึกษา” ทูตอิสราเอลย้ำ

ด้านเกออรค์ ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ให้ความเห็นในกรณีที่ 75 ปีผ่านไปแต่บางพื้นที่ของโลกยังมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือสังหารหมู่เกิดขึ้นว่า คงเป็นเรื่องยอดเยี่ยมมากหากโลกยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ ทุกวันนี้โลกยังคงต้องแก้ปัญหานี้ซึ่งเวทีสหประชาชาติคือคำตอบ ประชาคมโลกมีหลักนิติธรรม มีกฎหมายต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมาบอกว่า เป็นเรื่องภายในประเทศของตนอีกแล้ว แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกประเทศที่ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านและมองไปทั่วโลก

ส่วนกระแสต่อต้านยิวที่เพิ่มมากขึ้นในยุโรปรวมทั้งในเยอรมนีก่อให้เกิดคำถามว่า ชาวยุโรปไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากโฮโลคอสต์เลยหรือไร

"ผมคิดว่าเราเรียนรู้บทเรียนมากมายแต่วัคซีนนั้นต้องให้ซ้ำแล้วซ้ำอีก สำหรับผมในฐานะคนเยอรมัน เจ็บปวดมากเมื่อเห็นการทำร้ายกันเพราะความรู้สึกต่อต้านยิวเพิ่มมากขึ้น ผมมองว่าเป็นเพราะบรรยากาศทั่วไปเต็มไปด้วยความรู้สึกชาตินิยมและเหยียดเชื้อชาติ ถ้าคุณเริ่มแบ่งแยกคนอื่นเพราะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา หรือทัศนะทางการเมืองไม่เหมือนกันก็จะเข้าทาง อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นคืออินเทอร์เน็ตที่มีแต่เฮทสปีช ยุยงปลุกปั่นให้คนเกลียดชังกัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าการแก้ปัญหาต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ" ทูตเยอรมนีกล่าว