‘โดรนขนส่ง’ สตาร์ทอัพตอบโจทย์คลังสินค้าไฮเทค

 ‘โดรนขนส่ง’ สตาร์ทอัพตอบโจทย์คลังสินค้าไฮเทค

อากาศยานไร้คนขับเพื่อการขนส่ง ส่งตรงจากแล็บสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์สู่การใช้งานจริง รองรับน้ำหนักบรรทุก 4 กิโลกรัม บินนานสูงสุด 1 ชั่วโมง เหมาะสำหรับเคลื่อนย้ายอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ ภายในไซต์งานที่มีพื้นที่ใช้สอยคับแคบ

Transporter drone เป็นโดรน 6 ใบพัด รับน้ำหนักบรรทุกได้ 4 กิโลกรัม บินได้นานสูงสุด 1 ชั่วโมง ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมดก็จะบินกลับมาที่แท่นชาร์จได้อัตโนมัติ ขณะเดียวกันยังมีระบบป้องกันการชนโดยใช้เทคโนโลยีไลดาร์ (LIDAR) และอัลตร้าโซนิค (Ultrasonic) หลบหลีกสิ่งกีดขวางอัตโนมัติ ทำให้การบินมีประสิทธิภาพและลดอัตราการตกได้อีกด้วย

‘ยูเอวี’ซัพพอร์ตพื้นที่แคบ

เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ถือเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ด้วยประโยชน์ใช้สอยที่เพิ่มขึ้น ระดับราคาที่สัมผัสได้ ทำให้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการสื่อสาร บรรเทาอุทกภัย-อัคคีภัย และด้านการเกษตร เป็นต้น แต่เทรนด์ที่ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีคงหนีไม่พ้น “อากาศยานไร้คนขับเพื่อการขนส่ง”

เนื่องด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีไลน์การผลิตจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ใช้สอยมีอย่างจำกัด การเข้าถึงและเคลื่อนย้ายอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ หรือสินค้า จึงเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น รูปแบบการขนส่งจึงมีการพัฒนาเพื่อสอดรับกับไลน์การผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านความรวดเร็ว คุณภาพของการขนส่ง จึงเป็นเหตุให้การขนส่งด้วย “โดรน” กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และอาจเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมทุกอุตสาหกรรม

รุ่งโรจน์ กรุงเกษม วิศวกรออกแบบเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ผู้พัฒนา “Transporter drone” หนึ่งในสตาร์ทอัพที่ให้ความสนใจในด้านอากาศยานไร้คนขับเพื่อการขนส่ง กล่าวว่า จากการที่มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับไลน์การผลิตสินค้าตามโรงงานและพบปัญหาด้านการจัดเก็บชิ้นงาน ตามไลน์การผลิตต่างๆ ด้วยค่าเช่าโรงงานที่มีอัตราสูง ดังนั้น ลูกค้าจึงพยายามติดตั้งเครื่องจักรให้ใกล้ชิดกัน และเหลือพื้นที่ว่างน้อยที่สุด เพื่อต่อยอดสู่การเพิ่มกำลังการผลิตและลดการสูญเสีย

158031229664

จากเหตุผลข้างต้นทำให้ระบบการจัดเก็บตามไลน์การผลิตในปัจจุบัน ที่จัดวางชิ้นส่วนในพาเลทแล้วใช้คนลากหรือใช้รถเอจีวีวิ่งตามเส้นทาง เพื่อป้อนชิ้นส่วนในการประกอบตามโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ทำให้เสียพื้นที่ใช้สอยไปเป็นจำนวนมาก 

รุ่งโรจน์จึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำมาตอบโจทย์ปัญหานี้โดยออกแบบและสร้างโดรนที่ใช้ในการลำเลียง ด้วยเหตุผลที่ว่า “โดรนสามารถบินอยู่เหนือพื้นดิน ทำให้ประหยัดพื้นที่ใช้สอย อีกทั้งมีความรวดเร็วแม่นยำเป็นอย่างมาก”

เราออกแบบโซลูชั่นให้สามารถลำเลียงสิ่งของได้แบบอัตโนมัติ เพื่อนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ การขนส่งชิ้นส่วนไปยังไลน์การผลิตในบริเวณที่คับแคบที่รถเอจีวีไม่สามารถเข้าถึง นอกจากนี้ยังสามารถขนส่งอุปกรณ์กู้ภัยฉุกเฉิน เช่น ยารักษาโรคหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังบริเวณที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก ผู้ใช้สามารถระบุพิกัดที่ต้องการ จากนั้นโดรนจะทำการบินไปยังตำแหน่งที่กำหนดได้แบบอัตโนมัติ

เล็งนำ‘เอไอ’พยากรณ์อายุอะไหล่

ทั้งนี้ รุ่งโรจน์ มองว่า นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า และเป็นการลดข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้ามีไลน์การผลิต มีเครื่องจักรอยู่แล้ว แต่อยากพัฒนาระบบป้อนชิ้นส่วนเข้าไลน์การผลิตแบบอัตโนมัติ ถ้าเป็นเทคโนโลยีปัจจุบันก็จะใช้รถเอจีวี แต่เนื่องด้วยพื้นที่มีจำกัด การใช้รถเอจีวีจึงไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น โดรนขนส่งจะเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้

158031223438

สอดรับกับตลาดการบริหารจัดการคลังสินค้าของภาคอุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าสูงกว่า 75,500 ล้านบาท อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจโลจิสติกส์จะเติบโตจากการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง หรือ IoT มากขึ้น 3 เท่า คือ จาก 25 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 75 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2568

158031226516

เมื่อถามถึงภาพรวมตลาดและการแข่งขัน รุ่งโรจน์ อธิบายว่า
ยังมีผู้พัฒนาโดรนที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมน้อยราย เนื่องจากโดรนต้องบินในสภาวะแวดล้อมปิดทำให้ระบบการนำทาง และระบบการควบคุมทำได้ยาก จึงเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายได้ในหลากหลายเซกเตอร์ และคาดการณ์ว่าจะครองส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 5% ของตลาดอากาศยานไร้คนขับเพื่อการขนส่ง

“ในอนาคตจะพัฒนาโดรนให้มีการรับน้ำหนักที่มากขึ้น และจะนำเอไอมาใช้ในการพยากรณ์ชิ้นส่วนเพื่อช่วยลูกค้าในการวางแผนบำรุงรักษาอะไหล่ได้อย่างเป็นระบบ” รุ่งโรจน์ กล่าว