กรมชลฯวอนปชช.ใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืน

กรมชลฯวอนปชช.ใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืน

กรมชลฯ ออกโรงเตือนสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ขอประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(29 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 44,602 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 20,807 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,490 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,794 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/2563 ปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่นๆ สนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนจัดสรรน้ำรวม 4,000 ล้าน ลบ.ม.(เป็นน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3,500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง 500 ล้าน ลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/2563 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึง ปัจจุบัน(29 ม.ค. 63) ของทั้งประเทศ จัดสรรน้ำไปแล้ว 7,947 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำใช้การได้ที่จัดสรร เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,325 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของปริมาณน้ำใช้การได้ที่จัดสรร ปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้(ปี 2562) มีน้อยกว่าปีที่แล้วมาก(ปี 2561มีน้ำต้นทุนที่สามารถจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี61/62ทั้งประเทศ ประมาณ 23,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม.) จึงมีเพียงพอสำหรับใช้อุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก และปลูกพืชต่อเนื่องบางส่วนเท่านั้น

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล วันที่ 22 .. 63) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 3.55 ล้านไร่ โดยรวมเกินแผนฯแล้วเล็กน้อย(คิดเป็นร้อยละ 125 ของแผนฯ) แยกเป็นข้าวนาปรัง 3.27 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 142 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผัก 0.28 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 54 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.87 ล้านไร่(เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.26 ล้านไร่) ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้มีการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมถึงตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบและตระหนักถึงคุณค่าของน้ำอย่างต่อเนื่อง