หุ้น 'เกษตร-อาหาร' ยืนหนึ่ง ดัชนีบวกสวนภาวะตลาด

หุ้น 'เกษตร-อาหาร' ยืนหนึ่ง ดัชนีบวกสวนภาวะตลาด

ใกล้ผ่านเดือนแรกของปี 2563 ซึ่งนับเป็นการเปิดปีที่ไม่ค่อยดีนัก ขณะเดียวกัน ‘January Effect’ ที่มักจะช่วยผลักดันให้ดัชนีหุ้นภาพรวมปรับตัวขึ้นได้ ก็กลับไม่ได้เป็นเหมือนที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 28 ม.ค. 2563 ดัชนี SET ปรับตัวลดลง 4.21% หรือร่วงลงมาถึง81จุด

ไล่เรียงดูทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรมของไทย ต่างรูดลงไปตามๆ กัน ซึ่งในรายละเอียดแล้วหมวดที่นำลงมากสุด คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและท่องเที่ยวที่ติดลบไปหมวดละ 15% หมวดธนาคารติดลบ 9% อิเล็กทรอนิกส์ 8% ขนส่ง 6.5% ส่วนพลังงานติดลบไม่มากเพียงแค่ 1.5%

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่โชว์ความแข็งแกร่งสวนทางกับดัชนีในช่วงเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา คือ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ที่ประกอบไปด้วย 2 หมวดย่อย คือ ‘ธุรกิจการเกษตร’ และ ‘อาหารและเครื่องดื่ม’ โดยดัชนีของหุ้นในกลุ่มนี้เป็นบวกที่ 0.14%

ในหมวดธุรกิจการเกษตรมีหุ้นทั้งหมด 12 ตัว แต่มีหุ้นเพียงตัวเดียวที่ยืนบวกได้ คือ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) เพิ่มขึ้นมา 18% อย่างไรก็ดี แค่เพียง STA ตัวเดียวที่บวก ก็สามารถช่วยให้ดัชนีของหมวดนี้เป็นบวกได้ถึง 3.51% นั่นก็เป็นเพราะ STA มีมาร์เก็ตแคปราว 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 35% ของมาร์เก็ตแคปทั้งหมวดที่ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่เข้ามาหนุนราคาหุ้น STA คือ ราคายางพาราในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น 13% ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่เกือบ 1.6 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม โดย บล.ยูโอบีเคย์เฮียน มองว่า เป็นผลจากภัยแล้งในประเทศไทย (ทำให้ Supply ลดลง) และน่าจะช่วยให้อัตรากำไรขึ้นต้นดีขึ้น รวมถึงแรงหนุนจากธุรกิจถุงมือยางของบริษัท โดยปีนี้คาดว่ายอดขายถุงมือยางจะเติบโตราว 20%

ทั้งนี้ STA เตรียมนำ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ปัจจุบัน STA ถือหุ้น STGT ที่ 81% และหลังจากขายหุ้น IPO สัดส่วนจะลดลงเหลือ 56%

ข้ามมาดูที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มกันบ้าง ซึ่ง บล.ยูโอบีเคย์เฮียน มองว่า กำไรในปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากโรคระบาด ราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับต่ำ และฐานกำไรที่ค่อนข้างต่ำสำหรับปีที่ผ่านมา

แม้หนึ่งในหุ้นหลักของหมวดอาหารอย่าง บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) จะรูดลงมาถึง 12.5% รวมถึง บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN) ที่ลดลง 13.8% แต่หุ้นหลักอื่นๆ ยังช่วยกันพยุงดัชนีของหมวดให้ทรงตัวอยู่ได้ โดยเฉพาะ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่สุด เพิ่มขึ้น 4.5% บมจ.โอสถสภา (OSP) เพิ่มขึ้นเกือบ 10% บมจ.คาราบาว กรุ๊ป (CBG) เพิ่มขึ้น 3.8% เช่นเดียวกับ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เพิ่มขึ้น 2.2%

บล.บัวหลวง ระบุว่า ผลผลิตเนื้อหมูในปี 2563 จะลดลง 10% โดยหลักๆ มาจากผลผลิตในประเทศจีนจะลดลงถึง 25% แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าคนจีนจะมีการบริโภคเนื้อหมูลดลงจากราคาที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปกินเนื้ออย่างอื่นแทน รวมถึงจีนจะมีการนำเข้าเนื้อหมูเพิ่มขึ้น แต่เรามองว่ายังไม่สามารถชดเชยอุปทานที่หายไปค่อนข้างมาก ประเด็นข้างต้นนอกจากจะส่งผลต่อราคาหมูแล้ว ยังส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมไก่ โดยคาดจีนจะมีการนำเข้าเนื้อไก่เพิ่มขึ้น 20% ในปีนี้ และคาดว่าการส่งออกเนื้อไก่ของไทยจะเพิ่มขึ้น 11%

ทางด้าน ธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มอาหารที่แข็งแกร่งกว่าตลาดในช่วงนี้เป็นเพราะลักษณะพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นปัจจัย 4 ซึ่งมักจะมีความต้องการมากขึ้นในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ โดยเฉพาะในส่วนของ CPF ที่เป็นบริษัทใหญ่สุดของกลุ่ม ซึ่งได้แรงหนุนทั้งจากราคาเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่า รวมถึงโอกาสในการขายอาหารสำเร็จรูปได้มากขึ้น

“แม้จะมีความกังวลจากธุรกิจในจีนของ CPF อยู่บ้าง คือ อาหารสัตว์ ที่อาจจะมีความต้องการลดลง แต่ส่วนตัวมองว่าผลกระทบน่าจะค่อนข้างจำกัด เพราะลูกค้าส่วนมากขึ้นบริษัทเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มจะคงการผลิตต่อไป เพราะความต้องต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ส่วนการปรับฐานลงมาของหุ้นในกลุ่มนี้เมื่อ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นเพราะการปรับตัวขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้า และในช่วงที่ตลาดปรับฐานค่อนข้างแรง กลุ่มนี้ไม่ได้ปรับตัวลงเท่าใดนัก ฉะนั้นนักลงทุนที่มีหุ้นเหล่านี้อยู่จึงอาจจะตัดสินใจขายออกมาเพื่อล็อกกำไรที่มีอยู่”

สุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า แม้ภาพรวมของกลุ่มจะแข็งแกร่งกว่าตลาด แต่จะเห็นว่าการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มจะเป็นเกิดขึ้นในหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวมากกว่า อย่าง CPF ที่ได้แรงหนุนจากราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2562 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกปีนี้ ทำให้ผลประกอบการน่าจะออกมาดี ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มอย่าง OSP ก็น่าจะเห็นผลประกอบการที่เติบโตจากการขยายกำลังการผลิต และลดต้นทุนต่อเนื่อง ส่วนหุ้นตัวอื่นๆ ที่มีสัดส่วนลูกค้าชาวจีนสูง ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ TKN