พนักงานกทท. ยื่นศาลปกครอง ดึง 'แหลมฉบัง' เข้าคณะใหญ่

พนักงานกทท. ยื่นศาลปกครอง ดึง 'แหลมฉบัง' เข้าคณะใหญ่

พนักงานท่าเรือจับมือ “วีระ” ต้านประมูลแหลมฉบัง พร้อมยื่นหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุด ร้องดึงคดีประมูลแหลมฉบัง 3 เข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการหวังสร้างเป็นบรรทัดฐานให้ทุกโครงการของภาครัฐ

วานนี้ (29 ม.ค.) ตัวแทนกลุ่มปกป้องผลประโยชน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าพบนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบความโปร่งใส หลังพบว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่ม

158030531053

หลังการรับหนังสือนายวีระ เปิดเผยว่า คงต้องมาพิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องไปยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะกาารที่ ป.ป.ช.จะรับไต่สวนนั้นจะต้องมีหลักฐานใหม่ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกตีตกได้เรื่องนี้อาจใช้มาตรการทางสังคม รวมถึงวิธีการยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะเป็นวิธีการใดนั้นตนขอยังไม่เปิดเผย

“เรื่องบางเรื่องถ้ายังไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย การหยุดดำเนินการใดๆที่จะก่อให้เกิดความเสียหายก็น่าจะดีกว่า ดังนั้นตอนนี้จึงบอกได้เพียงว่า แนวทางหลังจากนี้คือการลดความเสียหายกลับไปเริ่มกระบวนการที่ถูกต้องโปร่งใสทุกฝ่ายตัดสินใจร่วมกันน่าจะเป็นทางออกของเรื่องดังกล่าว” นายวีระกล่าว

นายพีระพล งามเลิศ พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตัวแทนกลุ่มพนักงานปกป้องผลประโยชน์ กทท.กล่าวว่า วานนี้ (29 ม.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ตนได้เป็นตัวแทนกลุ่มพนักงานยื่นหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ประธานศาลปกครองสูงสุด พิจารณานำคดีคำสั่งทางปกครองที่พิพาทของ กทท.เกี่ยวกับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F นำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีคำสั่งทางปกครอง ที่พิพาทเกี่ยวกับการประมูลสัมปทานของหน่วยงานรัฐ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมือง

เนื่องจากคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด และทำให้พนักงาน กทท.จำนวนมากมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการมีอายุสัมปทานยาวนานถึง 35 ปี และมีผลตอบแทนที่ กทพ. สมควรจะได้รับจากผู้ได้รับสัมปทานเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งผลตอบแทนนี้ ทำให้ กทท. มีสภาพคล่องทางการเงินที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างรายได้นำส่งรัฐนำมาใช้เป็นทุนในการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงการปรับปรุงสวัสดิการเพื่อพนักงาน

“วันนี้เราได้ยื่นหนังสือให้กับกองสารบรรณศาลปกกครองสูงสุด ซึ่งเป็นหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด ขอให้ท่านนำคดีข้อพิพาทของ กทท.เรื่องการตัดสิทธิ์เอกชนนร่วมประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของโซน F เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด"

 สำหรับองค์คณะใหญ่นี้จะมีตุลาการ 9 คน มากกว่าองค์คณะปกติที่มี 5 คน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานการพิจารณาโครงการของภาครัฐ ที่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มีมูลค่าลงทุนสูง

ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนที่กลุ่มพนักงานปกป้องผลประโยชน์ กทท.ต้องการให้ตรวจสอบ เนื่องจากเล็งเห็นว่าผลการพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ตัดสินกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP เนื่องจากเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 (ลงนามไม่ครบถ้วนในหนังสือสัญญา) ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการฯ จึงเหลือกิจการร่วมค้า GPC ผ่านเพียงรายเดียว

โดยปรากฏข้อมูลข่าวสารออกมาโดยทั่วไปว่า กิจการ่วมค้า NCP ที่ถูกตัดสิทธิ์นั้น เสนอราคาประมูลที่ 2.7 หมื่นล้านบาท และกิจการร่วมค้า GPC ที่ผ่านการคัดเลือกเพียงรายเดียว เสนอราคาประมูลที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าครึ่งนึงของมูลค่าโครงการฯ ที่ทาง กทท. ตั้งไว้คือ 3.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งประเด็นนี้ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่ามีความไม่โปร่งใส และส่งผลให้รัฐเสียหาย 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้กลายเป็นประเด็นที่ประชาชนในสังคมให้ความสนใจ