เจาะชุดความคิด‘นวัตกร’ สปีดธุรกิจโต้คลื่นดิสรัปชั่น

เจาะชุดความคิด‘นวัตกร’ สปีดธุรกิจโต้คลื่นดิสรัปชั่น

ในอดีตเป็นยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก เพราะได้เปรียบจากการผลิตจำนวนมาก (Economy of Scale)แต่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคที่ปลาเร็วกินปลาช้า (Economy of Speed) สะท้อนให้เห็นว่า ขนาด‘ไม่ใช่’ คำตอบของผู้ชนะ

ในงานมอบรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 15 จัดโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยกย่องผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยสร้างความเข้มแข็งในมิติที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจ

 รวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่นที่ 3 และซีอีโอ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ในฐานะนวัตกร ได้เผยเคล็ดลับการทำธุรกิจให้อยู่รอดในยุคดิสรัปชั่นว่า ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกบริษัทต้องพยายามคิดสินค้าและบริการใหม่ ที่เรียกกันว่า นวัตกรรม(Innovation) เพื่อนำเสนอให้กับลูกค้าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เกิดขึ้นได้ เพราะ72% ในการพัฒนานวัตกรรม ล้มเหลวสาเหตุหลัก เพราะ เร่งรีบจนเกินไปและไม่ได้สำรวจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และสิ่งสำคัญที่องค์กรในยุคนี้ต้องมีคือ ชุดความคิดนวัตกร (Innovator Mindset) ของคนทำนวัตกรรม ที่ผลักให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ๆออกมาตอบโจทย์ลูกค้าตรงจุด

หลักการทำงานเริ่มจากการทดสอบไอเดียก่อนที่จะใส่เงินลงไปเพื่อลดความเสี่ยง ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทดสอบสมมติฐานก่อนลงทุน เพื่อให้มั่นใจก่อนที่จะสร้างต้นแบบ เหมือนกับที่ ‘อีลอน มัสก์’ ใช้ทดลอบความต้องการของลูกค้าในเปิดสั่งจองรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาโมเดลแรกก่อนจะก้าวขึ้นสู่ผู้นำด้านยนตรกรรมของโลกอย่างรวดเร็ว

รวิศ มองว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ไม่กลัวความล้มเหลว ทำให้มีทักษะในการคิดและลงมือทำบ่อยๆจะสร้างความเป็นนวัตกรได้ในที่สุด เพราะถ้าองค์กรจะปรับตัวรับกับเปลี่ยนแปลงก็เริ่มที่คนในองค์กรก่อน 

สิ่งที่จะพลิกองค์กรได้ไม่ใช่ความรู้ เพราะความรู้มันนิ่ง แต่เป็นการเรียนรู้ของคนในองค์กรที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปต่อได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน 5 บริษัทที่ได้รับรางวัลใบโพธิ์ในปีนี้ ได้ร่วมถ่ายทอดมุมมองในหัวข้อ “พลังแห่งการไม่ยอมแพ้” เริ่มจาก วุฒิชัย เจริญศุภกุล อดีตมนุษย์เงินเดือนที่ก้าวมาสร้างธุรกิจของตัวเอง เจ้าของแบรนด์ ‘Oh! Veggies’ โดยหัวใจแห่งความประสบความสำเร็จ เกิดจากแรงบันดาลใจและการมองหาโอกาส 

“เอสเอ็มอีในยุคนี้ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคมากมายแต่จะมีสักกี่รายที่ฝ่าฟันไปได้ สิ่งสำคัญแรงบันดาลใจและการวางแผนรองรับสถานการณ์ตลอดเวลาแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อความยั่งยืน ไม่เน้นการเติบแบบก้ากระโดด บางครั้งอาจท้อได้แต่อย่าถอย”

สุเทพ สิมะวรา ประธานกรรมการ บริษัท ห้าตะขาบ (ซิมเทียนฮ้อ) จำกัด ผู้สืบถอดมรดกทางปัญญาจากพ่อสู่ลูก จากยาอมลูกกลอนแก้ไอ ‘ตราตะขาบห้าตัว’ ได้ให้มุมมองในการทำธุรกิจว่า ในฐานะเป็นแบรนด์เก่าแก่จำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงจากยาต้ม ยาอมแบบซองมาเป็นกล่อง เพิ่มรสชาติ สีสันสดใสขึ้นรวมทั้งแตกไลน์จากยาอมลูกกลอนแก้ไอ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘ยาแก้ไอแบบสเปรย์พ่น’ เพื่อขยายฐานคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติในไตรมาสแรกปีนี้ นอกจากนี้ยังได้ทำการ Collaboration (ร่วมมือ) หรือกลยุทธ์ “X” กับ“เกรย์ฮาวด์” ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของไทย นำโลโก้ของซองตะขาบมาปรับให้ดูเป็นแฟชั่นและไลฟ์สไตล์แนวสตรีทบนเสื้อทีเชิ้ต เสื้อฮาวาย หมวกและกระเป๋าผ้า เพื่อเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันกำลังจะดิวแบรนด์น้ำดื่มเพื่อทำการคอลลาบอเรชั่นร่วมกัน

สุรนาม พานิชการ เจ้าของธุรกิจน้ำเต้าหู้พาสเจอไรซ์โทฟุซัง ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหา (pain point)ของตนเองในการหาซื้อน้ำเต้าหู้สดโดยที่ไม่ต้องไปซื้อที่รถเข็นตอนเช้าหรือในตลาดสด เป็นที่มาให้คิดโปรดักท์นี้ขึ้นมา ซึ่งกว่าจะได้ต้องเวลาในการพัฒนายาวนานถึง11เดือนในห้องแลปจนเกือบถอดใจ “ จากประสบการณ์การทำธุรกิจปัญหามีไว้แก้ และแก้ปัญหาด้วยสติจะเป็นทางที่ดีที่สุด”

ชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์  ผู้ก่อตั้งบริษัท บรันช์ไทม์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพกราโนลา แบรนด์ ไดมอนด์เกรนส์ กล่าวว่า การที่ได้ทำในสิ่งที่รักจะทำให้ไม่ย่อท้อกับอุปสรรค ขณะเดียวกันการทำสินค้าต้องให้ความใส่ใจในทุกมิติของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำและการเป็นลูกค้าประจำในที่สุด โดยเปลี่ยนจากความคิดที่อยากทำอะไรให้ลูกค้าเป็นฟังว่าลูกค้าอยากได้อะไร

ปิดท้ายด้วย พัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ผู้ผันตัวจากอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมาสู่เจ้าของธุรกิจด้านสปาและสุขภาพ ดีวานา มองว่า ท่ามกลางดิสรัปชั่น ผู้ประกอบการต้องเริ่มต้นจากวิธีคิดเชิงบวก มองปัญหาเป็นโอกาส และความผิดพลาดคือประสบการณ์ เพื่อเดินหน้าต่อไป โดยไม่รอโอกาสแต่ต้องแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจภายใต้แนวคิดสร้างความสุข สุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน