'หนี้ครัวเรือน' คืออะไร? คนไทยแบกไว้เท่าไร

'หนี้ครัวเรือน' คืออะไร? คนไทยแบกไว้เท่าไร

เข้าใจ "หนี้ครัวเรือน" ง่ายๆ ทั้งความหมาย หนี้ของคนไทย และแนวทางการแก้ปัญหา

หนี้ครัวเรือนคืออะไร ถ้าจะเดาแบบตรงตัวก็คงเป็นหนี้ของแต่ละบ้าน เช่น หนี้ของบ้านฉัน หนี้ของบ้านเธอ เป็นต้น แต่พออ่านข่าวก็ยิ่งงงไปอีกว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ในช่วงไตรมาส 2 หรือราวเดือนเมษายน-มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8%

..อ่านแล้วคิดว่าเป็นหนี้ของประเทศหรือเปล่า แล้วจริงๆ หนี้ครัวเรือนเป็นของใครกันแน่?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะชวนไปทำความเข้าใจภาษาทางเศรษฐศาสตร์ที่ยากแสนยากเหล่านี้ ให้เข้าใจง่าย โดยขอเริ่มต้นที่เรื่อง “หนี้ครัวเรือน เพราะช่วงนี้ใครๆ ก็บอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมา ทั้งจากสถาบันการเงินและนอกระบบ 

  • หนี้ครัวเรือนคืออะไร?

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายหนี้ครัวเรือนไว้ว่า คือเงินที่สถาบันการเงินต่างๆ ให้คนทั่วไปอย่างเราๆ กู้ยืมมา แต่ต้องเป็นคนที่อยู่ในประเทศเท่านั้น ซึ่งเราจะเอาเงินไปใช้ซื้อของ หรือเพื่อไปทำธุรกิจก็ได้ แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน

ถ้าหนี้เหล่านี้ เหมาะสมกับรายได้แล้ว มันก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แถมยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวด้วย แน่นอนว่า มุมหนึ่งนับเป็นข้อดี เพราะเงินจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ อย่างเช่น แม่ค้ากู้เงินมาลงทุนค้าขาย แม่ค้านำเงินไปซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารที่ตลาด เงินก็ถูกส่งไปต่ออีกทอดหนึ่ง

แม่ค้าต้นทางขายดี ก็หอบเงินไปโชว์รูมออกรถกระบะมาขนสินค้าใหม่ เงินก็ถูกส่งไปดีลเลอร์รถ หมุนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ และหากมองภาพกว้างๆ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับเหมาะสมหรือพอดีนั้น จะสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจการเงิน เช่น หนี้ครัวเรือนมากขึ้น รายได้ประชากรก็มากขึ้นด้วย เป็นต้น

แต่ถ้าเกิดว่า หนี้มากกว่ารายได้ขึ้นมาและกินระยะเวลานาน นี่แหละจุดเริ่มต้นของปัญหา! เพราะเราจะไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ หรือที่เรียกว่า "หนี้เสีย" (NPL) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ให้เรากู้ยืมมาด้วย

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว ไทยยังมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศด้วย รวมถึงคนทั่วไปก็ยังมีเงินกู้นอกระบบที่เขามาช่วยต่อลมหายใจอีก แต่ตอนจ่ายคืนอาจเลือกตากระเด็นออกมาได้ เพราะดอกเบี้ยที่แพงแสนแพง เหมือนกับที่เคยได้ยินมาว่า วันๆ จ่ายแต่เงินต้น ดอกเบี้ยมีแต่เพิ่มพูนไม่หยุด

158287704052

  • คนไทยเป็นหนี้เยอะจริงเหรอ

ถามว่าคนไทยมี "หนี้ครัวเรือน" แค่ไหนกันเชียว?

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็สำรวจและสรุปออกมาแล้วว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา คนไทยมีหนี้ครัวเรือน 340,053 ล้านบาท ต่อ 1 ครัวเรือน ขีดเส้นใต้เอาไว้เลย เพราะถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว

หนี้มาจากไหนบ้าง??

ผลสำรวจบอกว่า มันเป็นผลกระทบลูกโซ่ จากสงครามการค้า ที่เราๆ คิดว่ามันไกลตัว แต่เริ่มขยับเข้ามาใกล้มากขึ้น เพราะทำให้การส่งออกของไทย ลดลง แน่นอนว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงงาน หรือบริษัทที่นำเข้า-ส่งออก ต้องเดือดร้อน

นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ราคาผลผลิตทางการเกษตรก็ตกต่ำไปอีก ปริมาณนักท่องเที่ยวก็ลดลงด้วย

มาถึงตรงนี้สิ่งที่ทุกคนโดนเหมือนๆ กัน คือ รายได้ลดลง แถมค่าครองชีพก็สูงขึ้น หนึ่งในทางพึ่ง นอกจากไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แล้ว "บัตรเครดิต" ก็เป็นหนทางหนึ่ง ขอยืมเงินมาใช้ก่อนนะ แล้วเดือนหน้าๆ จะคืน

การใช้งานที่ง่ายเพียงรูดหรือแตะที่เครื่อง ก็สามารถซื้อของได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเป็นไปตามความต้องการพื้นฐานของชีวิต ก็คือ ซื้อบ้าน ซื้อรถ เป็นต้น ภาวะนี้เริ่มทำให้กลายเป็นหนี้ท่วมเข้าไปแล้ว

ผลสำรวจยังบอกอีกว่า คนไทยมีหนี้ใน 2 แบบ คือ หนี้ในระบบ ส่วนนี้จะมากหน่อยราว 59.2% ซึ่งปัจจุบันคนไทยต้องผ่อนชำระ หรือจ่ายตกเดือนละ 16,960 บาท และแบบที่ 2 คือ หนี้นอกระบบ ในไทยก็มีไม่น้อย 40.8% ซึ่งคนไทยที่เป็นหนี้ในรูปแบบนี้ ต้องจ่ายต่อเดือนกว่า 5,222 บาท

และหากแยกตามอาชีพ ออกเป็น 5 อาชีพ ได้แก่ รับราชการ รับจ้างรายวัน เจ้าของกิจการ พนักงานเอกชน และเกษตรกร จากผลสำรวจจะเห็นว่าแทบจะทุกอาชีพมีหนี้มาจากการซื้อรถยนต์ โดยข้าราชการมักจะเป็นหนี้จากการที่อยู่อาศัย ขณะที่คนที่รับจ้างรายวัน หลักๆ ก็มาจากการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค ด้านเข้าของกิจการ มีหนี้จากการลงทุนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ส่วนพนักงานเอกชนนั้นก็คือ หนี้จากการซื้อรถ และปิดท้ายด้วยเกษตรกรที่ต้องเป็นหนี้จากการลงทุนปลูกพืชผลทางการเกษตรนั่นเอง

  • มีใครแก้ปัญหาเรื่องนี้บ้างไหม? แล้วทำอย่างไร

ถ้าถามหาทางแก้ ยิ่งเป็นเด็กยุคหลังอย่างเจน Y หรือเจน Z ผู้ใหญ่มักจะบอกว่า ต้องรู้จักการออมเงิน โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศไทยว่า ปี 2561 จากครัวเรือนทั้งหมด 21.6 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่ออมถึง 15.7 ล้านครัวเรือน ส่วนที่เหลืออีก 5.9 ครัวเรือน ไม่มีเงินออม ดูตัวเลขแล้วถือว่าดีทีเดียว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องของ "การจัดสรรเงินออม" ที่ยังไม่แน่นอน ปัญหาก็วนกลับมาที่เดิมคือ ค่าครองชีพสูง หรืออาชีพยังไม่มีความมั่นคงพอที่จะวางแผนการออมได้ และปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง 

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ มองการแก้ปัญหานี้ในภาพรวมไว้ เริ่มกันที่มิติแรก จากตัวผู้ก่อหนี้อย่างเราๆ ก่อนเลย หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับการเงินและไม่เกี่ยว ต่างออกมาส่งเสริมความรู้ การวางแผนและวินัยทางการเงินที่ดี (financial literacy) จริงๆ ก็คือ เราต้องเตือนตัวเองบ้าง ว่าอย่าใช้จ่ายเกินตัว

นอกจากนี้ ธปท.ยังร่วมกับสมาคมธนาคารนานาชาติ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท สมาคมธนาคารไทย ได้ออกคลินิกแก้หนี้ออกมา ซึ่งล่าสุดออกมาเป็นเฟสที่ 3 แล้ว เพื่อช่วยเหลือผู้มีหนี้เสียทั้งบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งจะช่วยลดภาระ เพราะจ่ายเพียงแต่เงินต้นเท่านั้น 

ส่วนมิติที่สอง ก็คือ สถาบันการเงินต่างๆ ควรที่จะประเมินภาระหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ให้ดี และไม่ควรเร่งขยายสินเชื่อที่จะระตุ้นให้ประชาชนก่อหนี้เกินตัว เพราะสุดท้ายแล้ว จะย้อนกลับเข้ามาเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินนั่นเอง

และล่าสุดเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย ประชาชน และภาคธุรกิจต่างๆ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1% ถือเป็นการปรับลดครั้งประวัติศาสตร์ เพราะว่าต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ทำให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ก็ออกมาลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้มาตามๆ กัน น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เป็นโอกาสสำหรับทุกๆ คน 

ที่มาbot, bangkokbiznews, bot, pier