หวั่นตลาดจีนฉุดหุ้นส่งออก โบรกประเมินผลกระทบจำกัด

หวั่นตลาดจีนฉุดหุ้นส่งออก   โบรกประเมินผลกระทบจำกัด

ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากไวรัสโคโรนา ยังเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนในแต่ละวัน เพราะสถานกาณณ์ยังทำได้เพียงแค่เฝ้าระวังของแต่ละประเทศซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครออกมายืนยันอย่างชัดเจนว่าจะสามารถรักษาหรือมีวัคซีนมาป้องกันได้

           ดังนั้นภาคธุรกิจในประเทศจีนจึงเผชิญภาวะชะงักการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงอย่าง เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ไม่ว่าจะเป็น ร้านแมคโดนัลด์ เคเอฟซี แจ้งสั่งปิดสาขาหลายแห่งในจีน ธนาคารเครดิต สวิส กรุ๊ป และมอร์แกน สแตนลีย์ อนุญาตให้พนักงงานทำงานได้จากที่บ้าน ร้านกาแฟชื่อดัง สตาร์บัค ปิดสาขากว่าครึ่งในจีน

        นอกจากนี้มี ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประกาศระงับการผลิตในโรงงานโตโยต้าในจีน จนถึงวันที่ 9 ก.พ. และจะตัดสินใจดำเนินงานในวันที่ 10 ก.พ. อีกครั้ง จากก่อนหน้านี้มีค่ายรถยนต์นิสสันและ ฮอนด้า ได้ประกาศหยุดการผลิตในเมืองอู่อั่นและย่านชานเมืองเซี่ยงไฮ้ชั่วคราวไปแล้ว

          จากการหยุดกิจการของบรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลกมีผลลบและผลบวกต่อภาคธุรกิจไทยอยู่ไม่น้อย เพราะไทยเป็นฐานการผลิตให้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น และจีน ทั้งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ในกลุ่มชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์และซัพพรายเชนในกลุ่มยานยนต์ ให้กับค่ายรถทุกบริษัท บางรายต้องอาศัยตลาดจีนในการส่งออก ทำให้มีสัดส่วนยอดขายมาจากประเทศจีนอยู่ไม่น้อย

         มุมบวกมองโอกาสการที่ประเทศจีนไม่สามารถผลิตทำให้ต้องหาซัพพรายเชนจากประเทศอื่นทำให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตให้กับค่ายรถยนต์รายใหญ่ของไทย ซึ่งมีหุ้นที่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบด้วย บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) มีลูกค้าสำคัญคือค่าย อีซุซุ นิสสัน

         บมจ.สมบูรณ์ แอ็ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) รับผลิตให้กับค่ายรถยนต์รายใหญ่ ,บมจ.พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง (PCSGH) มีฐานผลิตที่ไทย ฮังการีและเยอรมันนี ,บมจ.อินเตอร์ไฮด์ (IHL) มีฐานลูกค้าในญี่ปุ่น    ฟิลลิปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและอินเดีย และ บมจ.อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) หรือ INGRS มีตลาดสำคัญอินโดนีเซีย อินเดียและมาเลเซีย

         ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นอีกกลุ่มที่มีการผลิตและส่งออกไปขายในจีน เผชิญปัจจัยลบเข้ามากระทบไม่น้อยตั้งแต่ประเด็นสงครามการค้าสหรัฐและจีน ตามมาด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าตลอดทั้งปี 2562 เกิดผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ ภาคการส่งออกของไทยหดตัวหนักตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 จนทำให้สิ้นปี ตัวเลขการส่งออก ลดลง 2.65 % เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2558

        ก่อนหน้านี้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวเริ่มออกอาการจากผลการดำเนินการที่กระทบตั้งแต่ไตรมาส 2 และหนักสุดในไตรมาส 3 จนสถานการณ์สงครามการค้าสหรับและจีนเริ่มดีขึ้น หลังเซ็นสัญญาพักรบเฟสแรก บวกกับแบงก์ชาติไทยส่งสัญญาณเข้ามาดูแลค่าเงินบาทจนทำให้บาทไทยหลังเข้าสู่ปี 2563 แข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน

         บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส ประเมินว่าหากโรงงานในจีนมีการหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราว จะกระทบต่อแนวโน้มคำสั่งซื้อต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯไทยจำกัด เนื่องจากสัดส่วนรายได้ในประเทศจีนของ บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) 18% ,บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA 14% , บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) 10% และ บมจ. เอสวีไอ (SVI) 5% 

          โดยให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มนี้ “น้อยกว่าตลาด” อยู่ก่อนหน้า เนื่องจากยังให้น้ำหนักความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และค่าเงินที่ผันผวน โดยไม่มีตัวเลือกที่น่าสนใจในกลุ่มชิ้นส่วนฯ

         บล.ทิสโก้ ประเมินว่าผู้ประกอบการยานยนต์รายใหญ่ย้ายคนงานออกจากจีน ทำให้การผลิตลดลงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานซึ่งKCE มีความเสี่ยงสูงที่สุดเพราะ มีรายได้ที่มาจากกลุ่มยานยนต์ที่สูงถึง 70% รองลงมาเป็น HANA ที่ 17%, DELTA ที่ 14% และ SVI ที่ 9% คาดว่ากำลังการผลิตที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มใน ไตรมาส 1 และ 2 เชื่อว่าการระบาดที่ยังไม่ชะลอตัวลงจะทำให้การหยุดการผลิตนานกว่าที่คาด

         ผลกระทบจากการเลื่อนกำลังการผลิตจะทำให้รายได้และผลประกอบการของ KCE ลดลง 5.8 - 8.3% ตามลำดับต่อเดือนที่มีการหยุดผลิตแนะนำให้ “ถือ” DELTA, HANA และ SVI โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 52.00 บาท, 35.75 บาท และ 3.22 บาท ตามลำดับ แต่แนะนำให้ “ขาย” KCE มูลค่าที่เหมาะสม 17.20 บาท