รู้จัก ‘หมอโรม’ ผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤติ 'ไวรัสโคโรน่า'

รู้จัก ‘หมอโรม’ ผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤติ 'ไวรัสโคโรน่า'

ชวนรู้จัก "นายแพทย์โรม บัวทอง" คุณหมอด้านระบาดวิทยา ผู้ทุ่มเทอยู่หลังฉากวิกฤติไวรัสโคโรน่า รวมถึงอีกหลายภารกิจเฝ้าระวังเชื้อโรคอุบัติใหม่ หนึ่งในนั้น คือ ภารกิจติดตาม "13 หมูป่า" ณ ถ้ำหลวง!

[Exclusive] เมื่อกระแสโซเชียลตีกลับ! ไม่นานมานี้มีประเด็นดราม่าร้อนๆ ถล่มโซเซียล กับการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการตรวจผู้โดยสารเพื่อเฝ้าระวังเชื้อ "ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่" ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ในตอนแรกดูเหมือนประชาชนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่พอใจที่ทีมแพทย์ไทย ซึ่งนำโดย นายแพทย์โรม บัวทอง และเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ตรวจผู้โดยสารอย่างทั่วถึง และอาจทำให้มีผู้ติดเชื้อเล็ดรอดเข้ามาในไทยได้ จนดูเหมือนว่าแพทย์และเจ้าหน้าที่ทีมนี้จะตกเป็นจำเลยของสังคม

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนได้ออกมาบอกว่า เจ้าหน้าที่ไม่ทำการตรวจวัดอุณหภูมิและหยุดใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรน่า ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมายืนยันว่า ไม่มีการหยุดคัดกรองและจะเริ่มคัดกรองเที่ยวบินที่มาจากเมื่องอื่นๆ ด้วย

ประกอบกับมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊คเจ้าของแอคเคาท์ Orabelle Ying Ying ได้โพสต์ข้อความถึงการทุ่มเทการทำงานของหมอโรมว่า

"53 flight ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่วงเวลา 20 กว่าวัน เดินวันละเป็นหมื่นก้าว ความทุ่มเทของนายแพทย์โรม บัวทอง คนนี้ ยิ่งใหญ่มาก ไม่เคยทิ้งผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เคยไม่รับสายเวลาโทรปรึกษาและที่สำคัญทำทุกอย่างตามมาตรฐานวิชาชีพเพื่อชีวิตพี่น้องคนไทย โปรดอย่าใช้จินตนาการโดยขาดพื้นฐานวิชาการ หรือแสดงความคิดเห็นไม่สร้างสรรค์ เพื่อมาทำลายขวัญกำลังใจเลยค่ะ"

158029905160     ภาพ: https://www.facebook.com/yingorathai/posts/3246714445357273

เมื่อได้รับการชี้แจงจากทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในรายละเอียดต่างๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น ก็เกิดกระแสตีกลับของชาวโซเชียล กลายเป็นเทกำลังใจให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ทีมนี้อย่างล้นหลาม

  • อ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

'ทีมนิรนาม' คุมไวรัสโคโรน่า สวดมนต์ข้ามปีจบ...งานก็เริ่ม!!!

โดยมีภาพจากเฟซบุ๊คดังกล่าวถูกแชร์ออกมา เป็นภาพระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของนายแพทย์โรม บัวทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สำนักระบาดวิทยา กลุ่มสอบสวนตอบโต้โรคระบาดและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำงานเกี่ยวกับการกำกับติดตามการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ ของประชาชนในพื้นที่อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และทันเวลา ทั้งในและนอกประเทศตามมาตรฐานสากล

และที่ผ่านมาหมอโรมเคยร่วมใน 3 ภารกิจสำคัญ คือ เฝ้าระวังโรคจากถ้ำหลวง เร่งหาสาเหตุการตายของชาวต่างชาติที่มาจากไนจีเรีย พื้นที่สุ่มเสี่ยงระบาดของไวรัสอีโบลา และล่าสุดตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิตลอด 24 ชั่วโมง และนี่คือเบื้องหลังภารกิจสำคัญที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

1. เร่งหาสาเหตุเชื้อไวรัสอีโบลา   

เมื่อปี 2557 มีการระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งใหญ่ที่สุด นั่นคือ ‘การระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก’ ประเทศไทยพบศพชาวต่างชาติที่เพิ่งกลับมาจากไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศสุ่มเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในขณะนั้น ซึ่งทางนายแพทย์โรม บัวทอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้วางแผนหารือและปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ คัดกรอง และสืบสวน ตลอดจนการวินิจฉัยหาสาเหตุการเสียชีวิต โดยหมอโรมและทีมระบาดวิทยาเป็นผู้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเพื่อมาวิเคราะห์หาสาเหตุการตายที่แน่ชัด รอการยืนยันว่าผู้ตายดังกล่าวติดเชื้ออีโบลาหรือไม่ จนสามารถทราบได้ว่า ศพชาวต่างชาติดังกล่าวไม่มีการติดเชื้อไวรัสอีโบลา

2. เฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากถ้ำหลวง 

ถัดมาในปี 2561 เกิดเหตุการณ์เด็กติดถ้ำและภารกิจการช่วยชีวิตครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ นั่นคือ การช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีและโค้ชรวม 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ให้สามารถลำเลียงออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย ซึ่งในเหตุการณ์นั้นมีอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่กลุ่มหมูป่าอาจนำเชื้อโรคในถ้ำออกมาด้วย ภารกิจนี้ท้าทายทีมแพทย์จาก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมถึง "ทีมระบาดวิทยา" ที่นำโดย หมอโรม ด้วย 

การเฝ้าระวังเชื้อโรคต่างๆ ในพื้นที่บริเวณถ้ำหลวงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีโอกาสที่จะก่อโรคอุบัติใหม่มากที่สุด เนื่องจากค้างคาวที่อยู่ในถ้ำนี้เป็นค้างคาวกินแมลงที่เป็นตัวนำเชื้อโรค รวมถึงการเฝ้าระวังโรคทั่วไปที่รู้อยู่แล้ว เช่น ฉี่หนู, ไทฟัส, ลิชมาเนียซิส เป็นต้น โดยภารกิจของหมอโรมและทีมระบาดวิทยา คือ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอาการของทีมหมูป่า 13 คน ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรค และรวมถึงเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เข้าไปทำภารกิจช่วยเหลือเด็กๆ ด้วย เมื่อนำเด็กทุกคนออกมาจากถ้ำได้สำเร็จแล้ว จากนั้นได้ส่งต่อเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งทีมระบาดวิทยาได้เข้าไปตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่มาจากถ้ำหลวง ติดตามเฝ้าระวังอาการถึงหนึ่งปีครึ่ง จนผลตรวจยืนยันว่าไม่พบเชื้อโรคอุบัติใหม่ 

158030141432

3. คัดกรองเชื้อไวรัสโคโรน่าอย่างเข้มงวด

ล่าสุด...กับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ "ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่" ที่กำลังเกิดขึ้นหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ณ ขณะนี้ ก็ถึงคราวของหมอโรมและทีมระบาดวิทยาต้องออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอีกครั้ง โดยหมอโรมได้เปิดเผยขั้นตอนการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่สนามบินสุวรรณภูมิว่า ขั้นแรกจะใช้กล้องถ่ายภาพความร้อนอินฟาเรด หรือเทอร์โมสแกน (Thermoscan) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสารทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง บริเวณจุดทางเข้าตรวจคนเข้าเมือง หากพบว่าใครมีอุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติ ก็จะส่งตัวไปคัดกรองในขั้นตอนต่อไป

สำหรับขั้นตอนการคัดกรองผู้ป่วยจะมีการตรวจเช็ค 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบเจาะจงประตูทางออก และเเบบเจาะจงอาคารเทียบเครื่องบิน หากพบอุณหภูมิร่างกายผิดปกติ เช่น มีไข้ เจ้าหน้าที่จะวัดอุณหภูมิร่างกายทางใบหูซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันอุณหภูมิจริงของร่างกาย ด้วยวิธีการนี้ทำให้สามารถตรวจพบผู้โดยสารที่มีอาการป่วยและอาจติดเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ชัดเจนขึ้น 

158030189765

ภารกิจมากมายข้างต้นที่หมอโรมและทีมระบาดวิทยาได้ลงพื้นที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้คนในเคสต่างๆ แสดงให้เห็นว่าทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยาของเมืองไทยมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการรับมือกับสถานการณ์ของเชื้อโรคอุบัติใหม่ได้อย่างทันท่วงที โดยส่วนตัวของหมอโรมเองก็เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสายงานระบาดวิทยามานานและมีประสบการณ์การทำงานในองค์กรสำคัญๆ หลายแห่ง โดยมีประวัติด้านการศึกษาและด้านการทำงาน ดังนี้

นายแพทย์โรม บัวทอง พื้นเพเป็นชาวอำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม และเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังได้เดินทางไปเรียนต่อด้านการแพทย์ที่ต่างประเทศในหลากหลายสาขา ได้แก่

- Advanced Health Economics & Policy at Chalite University Medicine

- Tropical medicine at Royal Tropical Institute (KIT)

- Consultancy skill in international health co-operation at University of Heidelberg

- International Health/Epidemiology at VU University Amsterdam

158030141612

ส่วนในด้านการทำงาน เคยได้ทำงานในหลากหลายองค์กรด้านการแพทย์และการสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่

- Clinician at Ministry of Public Health

- Medical officer, senior at กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

- Medical Doctor, senior professional level at Ministry of Public Health

- National Professional Officer at World Health Organization (WHO)

- Medical Officer, senior professional level at Bureau of Epidemiology, Department of Disease Control (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สำนักระบาดวิทยา กลุ่มสอบสวนตอบโต้โรคระบาดและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

----------------------------

ที่มาภาพ :

https://www.facebook.com/yingorathai/posts/3246714445357273

FB Rome Buathong