'เทพไท' แนะ 5 ทางออก แก้งบปี 63 สะดุด

'เทพไท' แนะ 5 ทางออก แก้งบปี 63 สะดุด

"เทพไท" แนะ 5 ทางออกเพื่อให้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.งบปี 63 แย้ง "วิษณุ" งัด ม.143 ปลดล็อค เหตุกระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้อง จึงไม่เข้าเงื่อนไข ม.143

วันที่ 29 ม.ค. 63 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการเสียบบัตรแทนกัน จนนำมาสู่ปัญหาการพิจารณา พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในขณะนี้ ว่า จากการที่รัฐบาลไม่สามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลได้ มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของหน่วยต่างๆ ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบงบประมาณแผ่นดิน จะต้องหาวิธีการหรือแนวทางแก้ไข เพื่อให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะล่าช้ามาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว ซึ่งในขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าว อยู่ในชั้นการพิจารณาตีความของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามทางรัฐบาล ก็ควรที่จะคิดหาวิธีการหรือแนวทางแก้ไขคู่ขนานกันไปด้วย ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ให้ได้โดยเร็วที่สุด ขณะนี้มีการเสนอทางออกของการแก้ไขปัญหาใน 5 แนวทาง คือ

1.การออกเป็นพระราชกำหนดโดยใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้วเพื่อให้มีการประกาศใช้ไปก่อน ซึ่งอาจจะขัดต่อหลักการและขั้นตอนการจัดทำงบประมาณของแผ่นดิน

2.นำร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ได้รับการแก้ไขแล้วเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณา 3 วาระรวดโดยมีการตั้งคณะกรรมมาธิการเต็มสภา ซึ่งในกรณีนี้จะต้องขอความร่วมมือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย การพิจารณาอาจจะยืดเยื้อล่าช้ากว่าปกติพอสมควร

3.นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่เพิ่งผ่านการลงมติไป กลับลงคะแนนใหม่ในวาระ 2 เฉพาะมาตราที่มีปัญหา และและลงมติวาระ 3 อีกครั้ง เพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความถูกต้องตามกฎหมาย

4.การนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่เป็นร่างเดิม เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะให้ทำให้เสียเวลาอีกมากมาย

5.แนวความคิดของ นายวิษณุ เครืองาม ที่โยนหินกรณีนำมาตรา 143 มาใช้แก้ปัญหานั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะกระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ เสร็จสิ้นตามกรอบเวลา 105 วันแล้ว แต่ติดขัดที่กระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้อง จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 143

"ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีการแก้ปัญหาหรือหาทางออกของปัญหาในแนวทางใดก็ตาม อาจจะเป็นบรรทัดฐานที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในอนาคต เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ มีความถูกต้องชอบธรรม ไม่ขัดต่อหลักกฏหมายใดๆ ทั้งสิ้น"