'มูนช็อท' ชูเทรนด์พีอาร์ดิจิทัล ครีเอทีฟดาต้ายกชั้นสื่อสาร

'มูนช็อท' ชูเทรนด์พีอาร์ดิจิทัล ครีเอทีฟดาต้ายกชั้นสื่อสาร

ส่องเทรนด์การประชาสัมพันธ์ยุคดิจิทัล ครีเอทีฟ คือพระเอก ดาต้า เพิ่มความแม่นยำการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย มูนช็อท ย้ำบอกลา AVE วัดคุณค่าแบรนด์

นายจักรพงษ์ คงมาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท มูนช็อท ดิจิตอล จำกัด เปิดเผยว่า เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการสื่อสารไปชนิดถอนรากถอนโคน และส่งผลให้การทำงานประชาสัมพันธ์หรือพีอาร์ในปัจจุบันต้องเปลี่ยนตาม ผู้ประกอบการไม่สามารถยึดติดกับการทำประชาสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมอย่างการเขียนและส่งข่าวเท่านั้น

ทั้งนี้ หากองค์กรหรือแบรนด์มุ่งเน้นการสร้างงานพีอาร์ที่สื่อสารได้ลึก เข้าถึงใจกลุ่มเป้าหมายยุคดิจิทัล ด้วยกระบวนการที่มีกลยุทธ์ สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณค่าในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งพึ่งพาพลังสายสัมพันธ์หรือคอนเน็คชันของบุคคลที่ 3  เช่น อินฟลูเอนเซอร์จนสามารถทำให้เกิดการแชร์ บอกต่อแบบธรรมชาติหรือออแกนิก(Earned Media) ควบคู่ไปกับการซื้อพื้นที่สื่อเพื่อทำคอนเทนต์ (Paid Media) ผสมผสานพลังกันเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจและกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ มูนช็อท ได้วิเคราะห์ “PR Exploration 2020” เทรนด์ของการทำงานพีอาร์ยุคดิจิทัล ประจำปี 2563 ทั้งสิ้น 3 ตอน ได้แก่ 1. พีอาร์ต้องมีความคิดสร้างสรรค์(CREATIVITY IS THE NEW BLACK)ที่ถือเป็นพระเอกสร้างความตื่นเต้นให้กลุ่มเป้าหมาย โดยยังมีเทรนด์ย่อยต้องเกาะติด เช่น การเติบโตของคอนเทนท์เสียงอย่างแพลตฟอร์ม “พอดแคสต์” ช่องทางสื่อสารแบรนด์รูปแบบใหม่, อินฟลูเอนเซอร์ที่ไร้พรมแดน ช่วยสร้างคอนเทนท์ให้ตรงใจผู้ชม และ Brandstanding คือไม่ว่าแบรนด์จะขยับตัวทำอะไร ไม่มีทางรอดพ้นสายตาของสังคมไปได้ การแสดงจุดยืนหรือท่าทีต่อเหตุการณ์ ปัญหา ประเด็นสังคมจึงสำคัญมาก เพราะนั่นจะสะท้อนถึงความเชื่อและคุณค่าที่แบรนด์ต้องการจะสื่อให้โลกได้เห็น

2.พีอาร์ต้องใช้ข้อมูลขับเคลื่อน (Data-driven PR) โดยขณะนี้ถึงเวลาที่วงการพีอาร์ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสขุมทรัพย์ข้อมูลหรือ Big Data เริ่มนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้กับการทำพีอาร์ หาเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ3.คุณค่าที่แบรนด์คู่ควร..จริงหรือ?(PR Value) เนื่องจากสถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป การใช้มาตรวัดผลแบบเดิมๆ อย่าง Advertising Value Equivalency (AVE) เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพและความสำเร็จของการสื่อสารมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ PR Exploration 2020 ต้องการย้ำจุดยืนวงการพีอาร์ควรยกเลิกการใช้ AVE