เร่งการลงทุน พา ศก.ไทยพ้นภัย

เร่งการลงทุน พา ศก.ไทยพ้นภัย

ในสถานการณ์ที่โลกกำลังมีปัญหาจากโรคระบาด ไวรัสโคโรน่า เหมาะเจาะกับที่รัฐบาลใช้จังหวะนี้ผลักดันโครงการขนาดใหญ่กับมาตรการพิเศษออกมา เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ฯลฯ ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในแนวโน้มชะลอตัวลง

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบอำนาจควบคุมเร่งรัดการค้าการลงทุน ทั้งโครงการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นและลงทุนตามขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว

คณะกรรมการฯ ยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 5 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง พาณิชย์ พลังงาน อุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เหมือนเป็นการกระชับอำนาจดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยนายสมคิดเป็นแม่ทัพ ทว่าหลายฝ่ายให้ความเห็นว่าในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การยอมรับนายสมคิด แต่โครงสร้างรัฐบาลที่มาจากพรรคร่วมเป็นเรื่องยาก ปรากฏว่าผ่านไป 1 สัปดาห์ เริ่มมีความหวัง ที่ประชุม ครม.วันที่ 28 ม.ค. เห็นชอบเรื่องใหญ่ๆ ที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวผลักดัน

เรื่องแรกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost จำนวน 1 สัญญา มูลค่าโครงการรวม 142,789 ล้านบาท ระยะเวลาเดินรถ 30 ปี โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 6 ปี จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ครม.ยังมีมติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแพ็คมาตรการพิเศษ คือให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 250% หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร 146 รายการ และอัดฉีดสินเชื่อเพื่อการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สำหรับมาตรการของกระทรวงการคลัง รัฐยอมสูญรายได้ 8.6 พันล้านบาท แลกกับผลที่ตามมาก็คือช่วยกระตุ้นลงทุนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีเพิ่มอีก 0.25% เราเห็นว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่กับมาตรการพิเศษที่น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ดี ยอมรับว่าเป็นยาแรง แต่เพื่อให้เพียงพอต่อปัญหาเศรษฐกิจที่ทำท่าจะชะงักงัน และเห็นว่าปัจจัยจากไวรัสโคโรนามีส่วนกดดันให้รัฐบาลโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนเร่งรัดการลงทุนตัดสินใจรวดเร็ว

เราเห็นว่า ในสถานการณ์ที่โลกกำลังมีปัญหาจากโรคระบาด ถูกที่ถูกเวลาที่รัฐบาลใช้จังหวะนี้ผลักดันโครงการขนาดใหญ่กับมาตรการพิเศษออกมา มีส่วนทำให้ไม่มีพรรคร่วมไม่คัดค้านหรือเกียร์ว่างเหมือนที่ผ่านมา ทว่าในทางปฏิบัติยังจำเป็นที่มาตรการต้องเห็นผลและกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ถ้าให้ดีต้องช่วยสร้างความมั่นใจให้เอกชนลงทุนตามที่รัฐบาลต้องการ นอกจากนี้การดำเนินนโยบายทั้ง 2 เรื่อง ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างเด็ดขาด