นวัตกรช่างชุมชน อาชีพแก้ปัญหาทุกครัวเรือน

นวัตกรช่างชุมชน อาชีพแก้ปัญหาทุกครัวเรือน

สามองค์กรรัฐและเอกชนเปิดตัว 10 สิ่งประดิษฐ์แก้ไขปัญหาชุมชนจาก “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน” มอบทุนพัฒนาต่อยอด 3 หมื่นบาทต่อโครงการ พร้อมจัดเวิร์คช็อปบ่มเพาะ ยกระดับสู่การเป็น “นวัตกรช่างชุมชน” เดินหน้าเฟ้นสุดยอด 3 ชิ้นงานรับ 1 แสนบาทต่อชิ้น

แรงบันดาลใจจากช่างอินเดีย

“โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน” นับเป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมช่างชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร บนแนวคิดของการแก้ไขปัญหาทางสังคมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยนำเอาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ของช่างชุมชนมาต่อยอด ผ่านการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและโอกาสเข้าถึงทรัพยากรในด้านต่างๆ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคทางวิศวกรรม การบริหารจัดการธุรกิจ และการเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น (Change Fusion) ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จุดเริ่มการตระหนักถึงความสำคัญของ “ช่างชุมชน” เกิดขึ้นราว 10 ปีที่แล้ว โดยมีแรงบันดาลใจจากอินเดีย ซึ่งมีเครือข่ายนวัตกรชาวบ้านท้องถิ่น ทุกปีจะจัดกิจกรรมการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์จากชุมชน รวมกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปี และประธานาธิบดีเป็นผู้มอบรางวัล อีกทั้งมีการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ช่างชุมชนโดยหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัย

หากช่างชุมชนต้องการจดสิทธิบัตรก็มีกลไกรัฐที่สนับสนุน รวมทั้งดูแลให้คำปรึกษาเมื่อมีผู้ประกอบการมาติดต่อซื้อสิทธิบัตรนั้น กระทั่งทางสถาบันฯ พบว่า บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอ มีโครงการสนับสนุน “ช่างชุมชน” หรือ “นวัตกรชุมชน” จึงได้เกิดเป็นโครงการฯ นี้ขึ้นมา

158022194794

สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ช.การช่าง กล่าวว่า โครงการฯ ทำให้เห็นผลงานต่างๆ จากความคิดสร้างสรรค์และความสามารถคนไทยในชุมชนต่างๆ ที่มีโอกาสที่จะนำมาต่อยอด ขยายขีดสามารถจากการใช้แก้ปัญหาของพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น จึงพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเงินทุนและการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมให้แก่ช่างชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สอดคล้องกับพันธกิจของ ช. การช่าง ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและพัฒนาประเทศผ่าน โครงสร้างพื้นฐานและการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก

เอ็นไอเอ เปิดโอกาสเข้าถึงกลไกรัฐ

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ กล่าวว่า โครงการฯ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยในท้องถิ่นทั่วประเทศล้วนมีทักษะในด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมได้ ด้วยจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนมาก หลายผลงานมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในท้องถิ่น เช่น เครื่องจักรกลเกษตร ระบบชลประทานการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อนำไปใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น กลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในวงกว้างหากมีโอกาสได้เข้าถึงการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งในด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และแหล่งทุนอย่างเป็นรูปธรรม

158022212531

“เมื่อ 2-3 ปีก่อนเอ็นไอเอร่วมส่งเสริมและพัฒนาการสร้างสตาร์ทอัพในระดับอาชีวศึกษา ตั้งเป้าไว้ 800 รายผ่านการทำแฮกกาธอน โดย ช.การช่าง ร่วมกำหนดโจทย์การแข่งขันด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือ ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การส่งเสริมนวัตกรช่างชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยที่จะเข้าถึงกลไกส่งเสริมด้านนวัตกรรม ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่มีบทบาทความสำคัญอย่างมากในชุมชน”

10 ผลงานช่างท้องถิ่น

สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกทั้ง 10 ทีม ประกอบด้วย เครื่องเจาะดินนิวบอร์น, เรือรดน้ำอัตโนมัติ, จักรยานปีนต้นมะพร้าว, เครื่องอูดยุง, รถไถนั่งขับอีลุย, ตะบันน้ำถังแก๊ส, กาลักน้ำประปาภูเขา, เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์, เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก และของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว

158022382795

ทั้ง 10 ทีมที่เข้ารอบจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมช่างชุมชน แบบ 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) ซึ่งแบ่งออกเป็น 1) การนำเสนอนวัตกรรมช่างชุมชน จากความตั้งใจสู่การปฏิบัติของแต่ละนวัตกร 2) กิจกรรมเรียนรู้จากแรงบันดาลใจนวัตกรรมช่างชุมชนระดับโลก 3) กิจกรรมร่วมกันวิเคราะห์จาก 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) 4) สรุปปัญหา โอกาส และแผนเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของแต่ละชิ้นงาน และ 5) เรียนรู้โอกาสการต่อยอดนวัตกรรม และแนวทางการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เอ็นไอเอ และ ไอแท็ป สวทช.

สุดท้ายจะเป็นช่วงวันสำหรับการเข้าพบที่ปรึกษา โดยจะมีทีมวิศวกรอาสาจาก ช.การช่าง เป็นที่ปรึกษา ด้านวิศวกรรม อาจารย์จากภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ และนักวางแผนธุรกิจและการเงินจากสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น เป็นที่ปรึกษา ด้านต้นทุนราคาและการจัดการและการตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน สามารถติดต่อสอบถามได้ทางเฟซบุ๊ค แฟนเพจช่างชุมชน ช.การช่าง www.facebook.com/grassrootinnovator