คปภ. ยันประกันจ่ายคุ้มครองโรคไวรัสโคโรนา

คปภ. ยันประกันจ่ายคุ้มครองโรคไวรัสโคโรนา

คปภ. แจง ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัยการเดินทาง คุ้มครองโรคไวรัสโคโรนา เตือนคนเดินทางควรทำประกันภัยบริหารความเสี่ยง เล็งพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยโดยเฉพาะเพื่อรับมือการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่เกิดการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน นั้น สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงควรเตรียมความพร้อม รวมถึงควรมีมาตรการเสริมที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งการประกันภัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ได้ทำประกันภัยไว้ ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นไปตามรายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไขและข้อยกเว้นของสัญญาประกันภัย ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมและอุ่นใจ หากผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) กรมธรรม์ประกันภัยที่จะเข้ามาเยียวยาความสูญเสียแก่ประชาชนในเบื้องต้น มีดังนี้

1. กรมธรรม์ประกันชีวิต ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี รวมถึงการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) ด้วย โดยบริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยกรณีเสียชีวิตตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์

2. การประกันสุขภาพ ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนเงินผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ในกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยด้วยโรค รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) ด้วย

3. กรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง ให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยขึ้นอย่างกะทันหันหรือเฉียบพลัน และไม่สามารถคาดการณ์ได้ รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) ด้วยซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย จนเป็นเหตุให้ต้องได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล สถานพยาบาลเวชกรรม หรือคลินิก ในต่างประเทศไม่ว่าในฐานะผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที สำนักงาน คปภ. ได้มีมาตรการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อหาแนวทางในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) 3 มาตรการ มาตรการที่ 1 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับมือกับโรคดังกล่าว โดยใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยง พร้อมสั่งการให้สำนักงาน คปภ.ภาค บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและเตรียมพร้อมช่วยเหลือด้านการประกันภัยให้ทั่วถึงอย่างเต็มที่ มาตรการที่ 2 หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย แจ้งบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต ให้ติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย โดยจะมีการประชุมเพื่อหารือร่วมกันอีกครั้ง

ในวันที่ 28 มกราคม 2563 นี้ มาตรการที่ 3 ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้การป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) โดยเตรียมสนับสนุนอุปกรณ์ หน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้กับพนักงานและประชาชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแลประชาชนและสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการประกันภัยอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. กำลังเร่งหารือกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยโดยเฉพาะ เพื่อคุ้มครองการติด เชื้อโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) ตลอดจนจะออกมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

“สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ต้องเดินทางเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เหตุการณ์ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และ ในขณะเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหรือมีคนแออัด สวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อต้องออกไปยังที่สาธารณะ หรือเมื่อต้องติดต่อกับผู้ที่มีอาการป่วย หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ ตลาดค้าสัตว์ หรือสินค้าจากสัตว์ ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ปรุงสุก ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือให้สะอาด และไม่นำมือมาสัมผัสที่ตา จมูก และปากหากไม่จำเป็น ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีอาการไข้ ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ให้รีบไปพบแพทย์ รวมทั้งควรทำประกันสุขภาพ ประกันภัยการเดินทาง และประกันชีวิตอื่น ๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากทำประกันภัยไว้แล้วควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นของสัญญาประกันภัย รวมทั้งตรวจสอบว่าสัญญาประกันภัยดังกล่าวยังมีความคุ้มครองอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย