'อีอีซี' เร่งแผนลดโลกร้อน หนุนสังคมคาร์บอนต่ำ

'อีอีซี' เร่งแผนลดโลกร้อน  หนุนสังคมคาร์บอนต่ำ

ปัญหาภาวะโลกร้อนได้รุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นเกือบทุกปีและมีความรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างหนัก จึงเป็นวาระเร่งด่วนของทุกประเทศทั่วโลกต้องเร่งแก้ปัญหา

คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบการศึกษาเพื่อพัฒนา รวมทั้งลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น และระบบกักเก็บพลังงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และส่วนขยาย เพื่อให้เป็น สังคมคาร์บอนต่ำ ตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำเสนอ

โดยมีเป้าหมายบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าเป็น 70:30 โดยเร่งรัดการลงทุนกับเอกชนให้ผสมผสานระหว่างการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในอีอีซี 

รวมทั้งสนับสนุนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ออกแบบระบบวางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิตสู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ มุ่งสู่การเป็น Zero Carbon City และพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ

158021770626

ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ไทยมีพันธะสัญญาในการลดก๊าซเรือนกระจกตามเจตจำนงที่แสดงต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในการลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 โดยปี 2562 ไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 10-15% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7%

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลกมีสัดส่วน 0.9% และเป็นที่ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ได้แก่ จีน รองลงมาเป็นสหรัฐ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของทั้งโลก ส่วนในประเทศไทยภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือภาคพลังงาน ที่รวมไปถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์ และโรงไฟฟ้า มีสัดส่วน 70% ที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรม 10% และภาคการเกษตร 10%

รวมทั้งที่ผ่านมาไทยได้มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันลดได้ 4 ล้านตัน ซึ่งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้รณรงค์ให้บริษัทขนาดใหญ่ร่วมลดการปล่อยก๊าซ โดยต่อไปจะเข้าไปร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เช้าไปชักชวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกว่า 700 ราย ให้เข้าร่วมลดก๊าซเรือนกระจกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดแผนคาดว่าจะยกร่างแรกเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปลายปี 2563 และเร่งออกพ.ร.บ. ว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้ที่ไม่สามารถลดก๊าซฯได้ตามเพดานกำหนด อาจใช้วิธีซื้อคาร์บอนเครดิตจากรายอื่นแทน ซึ่งจะก่อให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นวงกว้างมากขึ้น

“กฎหมายนี้จะกำหนดให้โรงงานขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.5 หมื่นตันต่อปี ซึ่งทั้งประเทศจะมี 700 โรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก , กระดาษ , ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยในปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ก็ได้รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้ว แต่หลังออกกฎหมายจะต้องกรอกรายละเอียดมากขึ้น”

สถานการณ์การซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยเป็นภาคสมัครใจ มีการซื้อปีละกว่า 2 แสนตันคาร์บอนต่อปี โดยมีบริษัทต่างๆเข้าร่วมซื้อคาร์บอนเครดิตกว่า 100 องค์กร โดยผู้ซท้อรายใหญ่สุดคือธนาคารกสิกรไทย ที่ซื้อปีละ 1 แสนตัน ส่วนผู้ที่ขายคาร์บอนเครดิต ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ก็นำมาขาย

สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตจะเป็นไปตามความพอใจของผู้ซื้อขายแต่ละราย เพราะเป็นการซื้อขายเพื่อสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากหมู่บ้านจากชุมชนท่ามะนาวที่มีอาชีพเลี้ยงหมู และนำก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกไปทำเป็นก๊าซหุงต้มในชุมชน ทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธปท.จึงได้ไปซื้อคาร์บอนเครดิตตันละ 200 บาท เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของชุมชน โดยขณะนี้บริษัทและองค์กรมีคาร์บอนเครดิตขายเกือบ 1 ล้านตันต่อปี

“การซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังมีน้อยเพราะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ความผันผวนของสภาวะอากาศทั่วโลกจะทำให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับซื้อคาร์บอนเครดิตมากขึ้น”

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการปลูกไม้ยืนต้น ในพื้นที่เครือซีพี ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนร่วมปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์

พัชรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะทำงานโครงการปลูกไม้ยืนต้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ซีพี มีพื้นที่บริษัทในเครือทั้งไทยและทั่วโลกเป็นจำนวนมาก มีเป้าหมายที่จะปลูกไม่ยืนต้นในทุกแห่งคาดว่าจะปลูกได้ไม่ต่ำกว่า 7 แสนต้น และจะส่งเสริมให้พนักงานในเครือที่มีกว่า 3 แสนคนปลูกต้นไม่คนละ 3-5 ต้น รวมแล้วก็จะได้มากกว่า 2 ล้านตัน คาดว่าภายใน 15 ปี จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตันคาร์บอน

นอกจากนี้จะผลักดันให้บริษัทที่เป็นพาทเนอร์เข้ามาร่วมปลูกไม่ยืนต้นด้วย และส่งเสริมให้ที่ดินในชุมชนโดยรอบของโรงงานซีพีทั่วประเทศ ร่วมกันปลูกต้นไม่ก็จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก รวมทั้งจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม่ยืนตันในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้เสริม โดยคาดว่าจะจะใช้เวลาปลูก 10 ปี จะมีรายได้ไร่ละกว่า 1 แสนบาทไปจนถึงไร่ละหลายล้านบาทขึ้นอยู่กับต้นไม้ที่ปลูก