'ทีเอ็มบี-ทีแบงก์' ลุยควบ '100 สาขา' จบสิ้นปีนี้

 'ทีเอ็มบี-ทีแบงก์' ลุยควบ '100 สาขา' จบสิ้นปีนี้

เดินหน้ามาเกินครึ่งทางแล้ว สำหรับ "ดีลยักษ์" ระหว่าง "ธนาคารทหารไทย" (TMB) และ "ธนาคารธนชาต" (TBANK) หลังเปิดดีลควบรวมกิจการ ดันสินทรัพย์แบงก์ใหม่เฉียด 2 ล้านล้านบาท

มาตั้งแต่ปลายปี 2561 ล่าสุดกระบวนการซื้อขายหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้น เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้น TMB ปัจจุบัน ถือโดย ไอเอ็นจีแบงก์ 23.03 % บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 20.11 % กระทรวงการคลัง 11.79 % และกองทุนวายุภักษ์ 9.94% ฯลฯ 

หลังจากนี้ จะเหลือก็แต่การรวม "สองแบงก์" เป็น "หนึ่งเดียว" ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 18 เดือนนับจากนี้

158028955095


“ปิติ ตัณฑเกษม”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า ดีลการควบรวมทั้งสองแบงก์เข้าด้วยกัน ตามไทม์ไลน์ คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ก.ค. 2564 ทั้งกระบวนการโอนย้ายผู้บริหาร พนักงาน  ช่วงที่ผ่านมา โอนคณะกรรมธนาคารทั้งสองแห่งมาอยู่ในธนาคารเดียวกันแล้ว และขั้นตอนหลังจากนี้ คาดว่าจะเป็นการโอนย้ายพนักงานระดับสูง และระดับกลาง คาดจะใช้เวลาดำเนินการ 3 เดือนจากนี้ และหลังจากนี้จะเป็นการย้ายพนักงานทั้งหมดมาเป็นธนาคารเดียวคาดเสร็จสิ้น 100% 1ก.ค.2564

ส่วนแผนการดำเนินงานด้านอื่นๆ เช่น ด้านประกันภัย ที่ธนาคารทีเอ็มบี เป็นพันธมิตรกับเอฟดับบลิวดี และธนชาตเป็นพันธมิตรกับพรูเด็นเชียล ท้ายที่สุดจะเหลือเพียงพันธมิตรรายเดียวเท่านั้น ซึ่งแบงก์มีระยะเวลาทบทวนเรื่องนี้อีก 24 เดือนว่าจะดำเนินการอย่างไร 

เช่นเดียวกันกับ การบริหารด้านธุรกิจกองทุน บลจ. ทั้ง บลจ. ธนชาต และบลจ. ทหารไทย (TMBAM Eastspring)ธนาคารมีแผนที่จะควบรวมบลจ.ทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน เชื่อว่ามีระยะเวลา 5 ปีนับจากปีนี้ แต่โดยความตั้งใจธนาคาร คือจะขายหุ้นที่๋ธนาคารถือให้กับ Eastspring ทั้งหมด เพราะแผนของธนาคารคือต้องการ บริหารกองทุนรวมแบบ Open Architecture ที่ขายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

หลังจากกระบวนการควบรวมเสร็จสิ้น ภาพธนาคาร หลัง 1ก.ค. 2564 เป็นต้นไป จะกลายเป็น 1 ธนาคาร 1ทีมผู้บริหาร ภายใต้ "ONE DREAM, ONE TEAM, ONE GOAL ที่รวมเป็นหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ทิศทางเดียวกัน เพื่อผลักดันธนาคารให้เป็น "ธนาคารที่คนชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุด" (The Most Advocated Bank) และเป้าหมายของธนาคารนับจากนี้ ไม่ใช่แค่ 1 บวก 1 เท่ากับสอง แต่ผลลัพท์ต้องเท่ากับสาม เพื่อช่วยลูกค้าของทั้งสองแบงก์ให้สามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิต และมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น หรือ Financial Well-being ด้วย

“เวลา 2 องค์กร หลายคนบอกว่า รวมกัน 1+1 ต้องได้มากกว่า 2 แต่เราอยากเห็น 1+1 เป็น 1 ทีม และมีเป้าหมายเดียวกัน โดยต้องการเป็น 1 ในดวงใจของลูกค้า ซึ่งไม่ใช่ที่ 1 ในแง่สินทรัพย์ เพื่อให้เราขึ้นแท่นเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบ และบอกต่อมากที่สุดให้ได้”

สำหรับผลการดำเนินงานนับจากนี้ เชื่อว่า จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการควบรวม แม้สินเชื่อธนาคารปีนี้ตั้งเป้าทรงตัว แต่ศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนของธนาคารจะมีมากขึ้น เช่นเดียวกับ NIM ปีนี้อยู่ในระดับที่ดีที่3% ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลแม้จะยังไม่ทราบทิศทาง แต่เชื่อว่าภูมิคุ้มกันที่ธนาคารสร้าง ผ่านการกันสำรองหนี้สูญในระดับสูงของทั้งสองธนาคาร จะทำให้ธนาคารเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้

158027550743

“ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ” ผู้จัดการใหญ่ TMB กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 เป็นต้นไป ธนาคารจะเริ่มปฏิบัติด้านสาขา โดยเริ่มเปิดให้บริการ Co-Location และ Co Brand Branch ที่เป็นสาขาร่วมกันของ 2 ธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสาขาที่ซ้ำซ้อนกันหลังจากควบรวม โดยคาดว่าสาขาที่จะเห็นการ Co Brand และ co location ภายในปีนี้ ราว 90-100 สาขา ทำให้สาขารวมของธนาคารลดลงเหลือ 800 สาขา จากปัจจุบันที่ 900 สาขา ซึ่งมาจากการรวมสาขาเข้าด้วยกัน

ที่สำคัญการควบรวมครั้งนี้ ธนาคารยืนยันว่า ในด้านลูกค้า และพนักงานธนาคารจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่ได้ปิดสาขา แต่เป็นการควบรวมกิจการ ดังนั้นการให้บริการก็ยังอยู่ ด้านพนักงาน ธนาคารไม่มีนโยบายให้พนักงานออก และต้องการหาพนักงานเพิ่มด้วยซ้ำ จากวันนี้ที่มี 1.9 หมื่นคน เพราะปกติมีพนักงานลาออกปกติต่อปีอยู่ราว 10-20%

ส่วนภาพโมบายแบงกิ้งในอนาคต ธนาคารจะมีการย้าย ลูกค้าบนโมบายแบงกิ้ง ของธนชาตหรือ T connect มาใช้ TMB Touch ซึ่งจะทำให้ลูกค้าบนโมบายแบงกิ้งของธนาคารรวมอยุู่ที่ 4 ล้านคน โดยจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าธนาคารทั้ง 4 ล้านคน โดยเฉพาะคนที่ไม่แอคทีฟ และแอคทีฟน้อย หันมาทำธุรกรรมมากขึ้นมากกว่าการหาลูกค้าจากนอกแบงก์มาเติมเต็มเท่านั้น