ลุ้น 'ศาลรธน.' พิจารณางบปี 63 ชี้ชะตาหุ้น 'รับเหมา-วัสดุก่อสร้าง'

ลุ้น 'ศาลรธน.' พิจารณางบปี 63 ชี้ชะตาหุ้น 'รับเหมา-วัสดุก่อสร้าง'

ช่วงนี้สารพัดปัจจัยรุมเร้า “ตลาดหุ้นไทย” โดยนอกจากเรื่อง “ไวรัสโคโรนา” ที่ทุบหุ้นไทยร่วงไม่ต่ำกว่า 50 จุด ลงมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,510 จุดแล้ว วันนี้(28ม.ค.) อีกหนึ่ง “ไฮไลท์” สำคัญของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” คำร้อง

ในกรณีที่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล “เสียบบัตรแทนกัน” ในช่วงลงมติรับรองร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2563 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่าจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งคาดว่าคำวินิจฉัยจะแบ่งเป็น 2 กรณี โดยกรณีแรกหากศาลฯ “ไม่รับพิจาณา" พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ก็จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง 

แต่หากศาลวินิจฉัยให้ “รับไว้พิจารณา” ก็คาดหมายว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาเร็วสุดอย่างน้อย 30-45 วันหรืออย่างช้า 2 เดือน จากเดิมที่งบประมาณปี 2563 ล่าช้ามาแล้วกว่า 4 เดือน นับตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2562

ทั้งนี้ หากคำตัดสินของศาลฯเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีนี้พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ก็จะมีผลบังคับใช้ต่อไป แต่หากคำตัดสินศาลฯไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 

1.โมฆะทั้งฉบับ ซึ่งกรณียังเป็นข้อถกเถียงว่าสภามีการพิจารณากฏหมายนี้ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เดิมที่คณะรัฐมนตรีเสนอ

2.ให้เสียไปเฉพาะที่ลงมติ ซึ่งอาจให้ลงมติใหม่บางมาตรา 

3.วินิจฉัยให้เสียไปเฉพาะหักคะแนนที่เสียบบัตรแทนกัน ซึ่งผลโหวตเห็นชอบ 253 เสียง ต่อ 0 เสียง ในขณะที่งดออกเสียง 196 เสียง กรณีนี้จะส่งผลบวกในแง่พ.ร.บงบประมาณปี 2563 จะมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจ คือ งบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท โดยมีงบลงทุนประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งได้ล่าช้ามาระยะเวลากว่า 4 เดือนแล้ว ซึ่งกรณีเสียบัตรแทนกันทำให้เกิดข้อกังวลจะโมฆะทั้งฉบับหรือไม่ เพราะจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกฏหมายหลายคนมองว่าจะไม่ถึงโมฆะทั้งฉบับ แต่ปัญหาคืออาจจะมีความล่าช้าออกไปอีก 2-3 เดือน ซึ่งอาจกระทบแผนการลงทุนและการประมูลโครงการของรัฐบาล

อ่านข่าว
ร้อง ป.ป.ช. เอาผิด 4 ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน

ด้าน “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ปัญหางบประมาณปี 2563 หากล่าช้าคาดว่าจะกระทบต่อหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มวัสดุก่อสร้างมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มรับอานิสงส์จากการลงทุนและการประมูลโครงการของภาครัฐโดยตรง 

ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมหากงบประมาณล่าช้าจนมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศให้ชะลอตัวคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) และกลุ่มหุ้นอื่นๆเกือบทั้งหมด

ทั้งนี้ต้องจับตาดูว่า ศาลฯ จะพิจารณารับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ คาดว่าจะรับไว้พิจารณา ซึ่งต้องติดตามว่าจะเป็นโมฆะทั้งฉบับหรือแค่บางส่วน โดยแนวทางที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้หลักๆเป็นไปได้ 3 ทาง ได้แก่ 

1.ไม่มีผลกระทบ หากพิจารณาเป็นการเสียคะแนนเฉพาะคนที่เสียบบัตรแทนกันเท่านั้นไม่ใช่คะแนนทั้งหมด

2.ผลกระทบบ้าง หากมีปัญหาเฉพาะมาตราที่มีการลงมติแทนกัน 

3.ผลกระทบแรง หากมีการโมฆะทั้งฉบับเพราะจะต้องไปเริ่มต้นกระบวนการต่างๆกันใหม่

158022616145

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นปัจจับลบที่กดดันตลาดหุ้นไทยในวันนี้ เพราะหากงบประมาณปี 2563 ล่าช้าออกไปอีกอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมแนะนำให้ชะลอการลงทุนในหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างออกไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องงบประมาณปี2563

“ยิ่งงบประมาณล่าช้าเท่าใดคาดจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากเท่านั้น และมีความเสี่ยงเรื่องที่อาจเกิด Government Shutdown ซึ่งคาดว่าอาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนปี63วงเงิน 6.6 แสนล้านบาท และส่งผลต่อการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงสร้างแรงกดดันต่อดัชนีหุ้นไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง”

ด้าน “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ คาดว่า หากศาลฯรับเรื่องไว้พิจารณาน่าจะกดดันต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาฯ ,กลุ่มทำฐานราก (เจาะเสาเข็ม) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง รวมถึงทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเศรษฐกิจไทยปีนี้มากขึ้น จากเดิมที่ทุกคนคาดหวังว่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐเป็นตัวนำ เพราะเครื่องยนต์ตัวอื่นๆทั้งการท่องเที่ยวและภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

ทั้งนี้เชื่อว่าหากงบประมาณปี 2563 ล่าช้าออกไปอาจมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างแน่นอน และอาจส่งผลให้สำนักวิจัยต่างๆอาจมีการปรับลดตัวเลขจีดีพีปีนี้ได้ โดยคาดว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะยังไม่เกิดขึ้น หากการลงทุนของภาครัฐยังไม่เกิด รวมถึงกระทบไม่ยังการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติที่อาจทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมได้

อย่างไรก็ตามในทางกลับกันหากศาลฯไม่รับเรื่องไว้พิจารณา คาดว่าจะเป็นประเด็นเชิงบวกต่อตลาดหุ้น เพราะความวิตกกังวลของนักลงทุนจะลดน้อยลงโดยเฉพาะในส่วนของหุ้นที่ได้รับแรงกดดันน่าจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น

“เรื่องนี้มีทั้งบวกและลบต่อภาวะตลาดหุ้นไทยได้ ซึ่งต้องติดตามว่าผลการพิจารณาของศาลฯจะออกมาว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งหากรับไว้เรื่องนี้ก็จะกดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อ โดยเฉพาะอาจเป็นลบต่อรายกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่หากออกมาศาลฯไม่รับก็คาดว่าน่าจะเป็นปัจจัยบวกที่หนุนตลาดหุ้นได้”