ลุ้น ปตท.สผ. โชว์กำไรปี 62 พร้อมปันผลทันที

ลุ้น ปตท.สผ. โชว์กำไรปี 62 พร้อมปันผลทันที

ช่วงที่ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยปัจจัยลบทำให้ตลาดหุ้นไทยยังไปไหนไม่ได้ไกล บวกกับผลประกอบการกลุ่มใหญ่ที่ออกมาอย่าง ธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 4 ปี 2562 ทำเอานักลงทุนกังวลว่ากลุ่มเรียล เซ็ทเตอร์ที่จะตามมามีผลกระทบไปด้วย 

จึงทำให้กระแสการลุ้นกำไรจึงไม่ค่อยมีผลต่อราคาหุ้นเมื่อเทียบกับความกังวลใจปัจจัยลบใหญ่อย่าง ไวรัสโคโรนา

ด้วยปัจจัยราคาสินค้าโภคภณฑ์ อย่าง น้ำมัน  ที่มีทิศทางขาขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี บวกกับการพักรบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้นักลงทุนให้น้ำหนักกลุ่มนี้มากขึ้น  และลุ้นกำไรจะออกมาในสัปดาห์นี้ไปด้วย

บริษัทใหญ่ ปตท. สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP  เป็นบริษัทแรกในกลุ่มพลังงานและในกลุ่มปตท. ซึ่งจะสะท้อนกำไรของกลุ่มด้วยว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากตัวเลขในรอบ 9 เดือน ปี 2562 กำไรอยู่ที่  37,182 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นถึง 35.83 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่ากำไรทั้งปี 2561 จึงทำให้สิ้นปี 2562 กำไรของ PTTEP จึงออกมาโดดเด่นในกลุ่มเลยว่าได้เมื่อเทียบกับธุรกิจปิโตรเคมี

เฉพาะปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ทั้ง 3 ตลาดทรงตัว จากข้อมูล  Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์  ตลาดเวสต์เท็กซัส (WTI) ราคาเฉลี่ยมาอยู่ที่  55.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ลดลงเล็กน้อยจากเฉลี่ยไตรมาสก่อนที่ 56.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 57.00ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  

ตลาดน้ำมันดิบเบรนท์ ( BRENT)  ราคาเฉลี่ยอยู่ที่  62.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 62.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่  64.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  และตลาดน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่  62.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล    

ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันอาจจะไม่มีผลกระทบต่อ PTTEP มากเท่าธุรกิจปิโตรเคมี จากการสำรวจผลกำไรของ โบรกเกอร์ต่างคาดการณ์กำไรจะออกมาในงวดนี้ เติบโตทั้งไตรมาสต่อไตรมาส และช่วงเดียวกันปีก่อน

โดย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดไตรมาส 4 กำไรปกติจากการดำเนินงานอยู่ที่ 10,400 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 11 %  จากไตรมาสก่อน และ 12 %  จากช่วงเดียวกันปีก่อน  ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.85 แสนบาร์เรล

การรับรู้ปริมาณขาย ของ Murphy เต็มไตรมาสครั้งแรก และเริ่มรับรู้ปริมาณขายของ Partex ที่ปิดดีลซื้อกิจการตั้งแต่เดือนพ.ย. ขณะที่  EBITDA margin คาดว่าจะรักษาระดับที่71.8% ต้นทุนการผลิตลดลง เพียงพอชดเชยราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง 4% จากปีก่อน

นอกจากนี้ค่าเงินบาทไตรมาส 4แข็งค่า ราว 0.84 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้คาดว่าจะมีประโยชน์ทางภาษีอีกราว 2,100 ล้านบาท ซึ่งทั้งปี 2562 คาดว่ากำไรอยู่ที่ 50,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.44 และคาดกำไรลดลงในปี 2563 อยู่ที่ 45,846 ล้านบาท

      158022419350

ขณะที่ บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประเมินรับผลกระทบน้อยกว่าหุ้นอื่นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี จากกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ขณะที่ปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมัน

ประเมินว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติไตรมาส 4 ปี2562 จะปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่งผลดีต่อต้นทุนผลิต อยู่ที่ 32 ดอลาร์ต่อบาร์เรล ด้วยปริมาณขาย 370,000 บาร์เรล/วัน หากเป้นไปตามคาดประมาณกำไรปี 2562 และ2563 ที่ 39,190 ล้านบาทและ 40,333 ล้านบาทตามลำดับ

นอกจากการลุ้นผลดำเนินของ PTTEP แล้ว การคาดหวังเงินปันผลถือว่าเป็นจุดเด่นให้บริษัท จากฐานการเงินที่แข็งแกร่งมีเงินสดในมือจำนวนมากทำให้สามารถจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ เฉลี่ย 4-4.5% ต่อปี

โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลออกมาแล้ว 2.25 บาทต่อหุ้น รวมเป็นอัตราผลตอบแทน 3.97 % และในงวดครึ่งปีหลัง คาดการณ์เงินปันผลที่ 3.05 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราจ่ายปันผลที่ 2.3% จะมีการประกาศพร้อมกับแจ้งบการเงินวันที่ 30 ม.ค.นี้