'บอร์ดทีโอที' ไฟเขียวเข้าประมูล '5G'

'บอร์ดทีโอที' ไฟเขียวเข้าประมูล '5G'

'บอร์ดทีโอที' ทุบโต๊ะเข้าประมูล 5G ย้ำมีงบประมาณดำเนินการไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ พร้อมส่งแผนประมูลให้ 'ดีอีเอส' พิจารณา ยันไม่ขายคลื่นต่อแน่นอน

ชี้ลงทุนไม่ซ้ำซ้อนกับกสทฯเพราะแต่ละรายก็ต้องมองหาโครงการในอนาคตเพื่อรองรับ ส่วนประมูลในคลื่นใดบ้างยังไม่เปิดเผย ล่าสุดโชว์ผลประกอบการปี 62 ทำกำไรทะลุ 2,800 ล้านบาท รายได้ทะลุ 60,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดทำได้ลดลงมาอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท พร้อมกันงบสำหรับ 5G ไว้ที่ 8,000 ล้านบาท

นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ บมจ.ทีโอที รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า วานนี้ ( 28 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอทีได้พิจารณาเอกสารเงื่อนไขการประมูลคลื่น 5G จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีมติให้ทีโอทีเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ หลังจากที่ทีโอทีไปรับเอกสารการประมูลมาแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนพร้อมเข้ายื่นซองประมูลวันที่ 4 ก.พ.นี้ โดยเบื้องต้นแหล่งเงินทุนในการประมูลมาจากเงินของทีโอทีเองไม่ได้ใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินรายใด

“การประมูลวันที่ 16 ก.พ.นี้ เราพร้อมเต็มที่จะประมูลแม้จะเป็นครั้งแรกก็ตาม แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะประมูลคลื่นไหน ส่วนขั้นตอนต่อจากได้รับมติบอร์ดจะเสนอแผนการดำเนินงานต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)​ ต่อไป”

158021385845

สำหรับผลประกอบการทีโอทีปี 2562 ที่ผ่านมา เขา ระบุว่า ทีโอทีมีรายได้ 67,847 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,896 ล้านบาท คาดว่าปี 2563 จะมีรายได้อยู่ที่ 55,000 ล้านบาท และวางแผนเงินลงทุนไว้ที่ 8,000 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการรลงทุน 5G ด้วย โดยจะแบ่งและวางแผนการลงทุนในโครงการต่างๆชัดเจน หากเป็นโครงการเพื่อประโยชน์สังคมและสาธารณะ ทีโอที จะขอให้รัฐบาลช่วยลงทุน แต่หากเป็นโครงการของทีโอทีเอง ทีโอทีจะต้องใช้เงินตนเอง และรับรองได้ว่า ทีโอที จะไม่ขายคลื่นต่อให้คนอื่นทำธุรกิจแทนแน่ๆ ส่วนการลงทุน 5G ถามว่าซ้ำซ้อนกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือไม่ ยืนยันว่าไม่ เพราะต้องช่วยกันทำโครงการในอนาคตอยู่แล้ว หลังมีการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัท

สำหรับความคืบหน้าในการควบรวม นางณัฏฐ์ณัชชา ไชยประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการย่อย 13 คณะในการดูเรื่องต่างๆ เช่น ด้านบริการ การเงิน และ บุคลากร เพื่อไม่ให้การควบรวมเกิดผลกระทบต่อสวัสดิการของพนักงาน ส่วนการว่าจ้างที่ปรึกษาได้ดำเนินการร่างสัญญาเสร็จแล้วในวงเงิน 30 ล้านบาท โดยทั้ง ทีโอที และ กสทฯ ออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง ซึ่งจะมีการศึกษา 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องกฎหมาย เรื่อง บุคลากร ทีโอที รับผิดชอบ และ ที่ปรึกษาควบรวม ทั้งด้านการเงิน และ ยุทธศาสตร์ กสทฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ดี ในประเด็นการเดินหน้าสรรหาตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของทีโอทีนั้น รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เสริมว่า ยังคงต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากผลของการควบรวมยังไม่เสร็จสิ้น ขณะที่ ความคืบหน้าการตรวจรับงานโครงการเน็ตชายขอบที่ทำกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ระหว่างการทำงานตรวจรับร่วมกัน ยอมรับว่าบางพื้นที่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ แต่บางพื้นที่ก็ยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน