ศธ.หารือสภาหอการค้า 6 ประเทศวางแผนผลิตผู้เรียนสายอาชีพ

ศธ.หารือสภาหอการค้า 6 ประเทศวางแผนผลิตผู้เรียนสายอาชีพ

ศธ.หารือสภาหอการค้า 6 ประเทศ วางแผนผลิตผู้เรียนสายอาชีพ พร้อมขับเคลื่อนการบริหารจัดการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานสากล

วันนี้ (28 ม.ค.2563 )นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอาชีวนานาชาติ เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีตัวแทนสภาหอการค้าจากประเทศอังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย อเมริกา สิงคโปร์ และไอซ์แลนด์ เข้าร่วมประชุมเพื่อเป็นการประสานความร่วมมือขับเคลื่อนการบริหารจัดการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในการได้เจอกับตัวแทนสภาหอการค้าจากประเทศต่างๆ

โดยได้ชี้แจงแนวทางการทำงานของศธ.ให้สภาหอการค้าต่างประเทศได้รับทราบถึงทิศทางการขับเคลื่อนงานการศึกษาโดยเฉพาะอาชีวศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาสภาหอการค้าได้ให้ความร่วมมืออย่างดี โดยมองว่าการดำเนินโครงการต่างๆระหว่างอาชีวะและสภาหอการค้าต่างประเทศแม้เป็นโครงการที่ไม่ใหญ่ แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งจุดนี้อาจติดเรื่องบประมาณในการดำเนินงาน ดังนั้นการทำความร่วมมือในอนาคตระหว่างสภาหอการค้าต่างประเทศจะต้องเติมงบประมาณให้เหมาะสม เพื่อทำให้เด็กอาชีวะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ วางแผนการดำเนินการร่วมกับสภาหอการค้าต่างประเทศว่าจากนี้ไปจะมีการจัดประชุมแบ่งออกเป็นกลุ่มๆว่าบริษัทต่างประเทศบริษัทใดที่สนใจจะลงทุนในประเทศไทย และขาดบุคลากรจำนวนเท่าใดในสาขาไหนบ้าง เพื่อที่เราจะได้ทราบตัวเลขความต้องการของตลาดแรงงานและวางแผนการผลิตผู้เรียนได้ตรงกับความต้องการในอนาคต เช่น หากตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมต้องการบุคลากรประมาณ 10,000 คน เราจะได้ปรับการเรียนการสอนในวิทยาลัยอาชีวให้มีมาตรฐาน ซึ่งเราต้องการทราบตัวเลขความต้องการให้ชัดเจนก่อน

“จากนี้ไปจะทำงานร่วมกับสภาหอการค้าต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนอาชีวไปสู่มาตรฐานสากลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้เราได้เตรียมความพร้อมในอนาคตทั้งการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาครู ดังนั้นสภาหอการค้าต่างประเทศจะต้องระบุตัวเลขความต้องการและการลงทุนในประเทศไทยมาให้ชัดเจน เช่น ธุรกิจยานยนต์ ต้องการแรงงานจำนวนเท่าไหร่สำหรับอนาคต เป็นต้น" นายณัฏฐพล กล่าว

การได้หารือกับสภาหอการค้าต่างประเทศจะทำให้ได้ประโยชน์กับธุรกิจที่ประเทศไทยยังไม่คุ้นเคยด้วย เช่น ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งธุรกิจนี้ถือว่าขาดแคลนจำนวนมาก เป็นต้น ดังนั้นเชื่อว่าจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจที่ประเทศไทยยังไม่คุ้นเคยอีกด้วย