ครม.อนุมัติปรับเบี้ยผู้พิการจาก 800 เป็น 1,000 บาท

ครม.อนุมัติปรับเบี้ยผู้พิการจาก 800 เป็น 1,000 บาท

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเพิ่มเบี้ยผู้พิการจากปัจจุบัน 800 บาท เป็น 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน เริ่มจ้าย 1 ตุลาคม 2563


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติตามที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเสนอ เพิ่มเบี้ยผู้พิการจากปัจจุบัน 800 บาท เป็น 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน เพราะจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนพิการได้ และไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการคลังเพิ่มมากขึ้นจนเกินไป โดยสถานะทางการเงินของผู้พิการ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีรายได้น้อยมาก เฉลี่ยเดือนละ4,326บาท การปรับปรุงเบี้ยผู้พิการให้ตอบสนองความต้องการที่จำเป็นจะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ข้อมูลจากฐานทะเบียนกลาง กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2562 มีจำนวนคนพิการที่ทำบัตรผู้พิการ 2.02 ล้านคน การปรับเบี้ยผู้พิการเพิ่มขึ้นนี้ จะทำให้ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 4,852 ล้านบาท/ปี โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ให้แก่ผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการและผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณผ่านกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ 2564


นายกรัฐมนตรี ยังได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้

1.ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ให้ทุกส่วนราชการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการเช่น ทางลาดขึ้นลงอาคาร ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ โดยกำหนดให้เป็นเงื่อนไขในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร


2.ด้านการสร้างอาชีพ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดทำบัญชีคนพิการโดยแยกประเภทตามความพิการ คุณวุฒิเฉพาะด้านของคนพิการ เพื่อเป็นข้อมูลในการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐและการทำงานที่บ้าน และกำหนดเป้าหมายการรับคนพิการเข้าทำงานในแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ให้กระทรวงแรงงาน ติดตามและตรวจสอบการจ้างงานคนพิการของนายจ้างหรือผู้ประกอบการต่างๆ ให้ดำเนินการถูกต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด เพื่อให้คนพิการได้เข้าทำงานจริงและเปิดโอกาสให้ได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ


3.ด้านสิทธิประโยชน์ ให้กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาแนวทางปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในการได้รับบริการด้านสุขภาพของคนพิการที่มีงานทำและเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และคนพิการที่ยังไม่มีงานทำและเป็นผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีความสอดคล้องเท่าเทียมกัน