ธปท.จับตาหุ้นกู้นอนเรท 'อสังหา' พุ่ง

ธปท.จับตาหุ้นกู้นอนเรท 'อสังหา' พุ่ง

“แบงก์ชาติ” เผยภาพรวมสินเชื่อ-เอ็นพีแอล ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “ไม่น่าห่วง” เชื่อแบงก์บริหารจัดการได้ แต่จับตาการระดุมทุนของภาคอสังหาฯ ที่หันออกหุ้นกู้เรทติ้งต่ำ หรือ “นอนเรทติ้ง”เพิ่มขึ้น หวั่นสร้างความเปราะบางภาคการเงินในอนาคต

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า  สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แก่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Pre finance) ไม่น่ากังวล แบงก์สามารถควบคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับเดิมได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา แบงก์ได้ชะลอการให้สินเชื่อตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ พร้อมกับเน้นให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีฐานะการเงินมั่งคง มีประสบการณ์ และแบรนด์สินค้าน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อบ้านมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ด้านคุณภาพสินเชื่อไม่น่าห่วง แต่ต้องติดตามสถานการ์ณออกหุ้นกู้ของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ และไม่มีการจัดอันดับ (unrated bond) ที่มากขึ้น โดยเฉพาะบางรายที่ใช้ช่องทางดังกล่าวระดมทุน อาจต้องติดตามถึงสถานการณ์ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะหากกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ อาจนำมาสู่ความเปราะบางของธุรกิจการเงินโดยรวมได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ณ เดือนก.ย. 2562 ยอดคงค้างตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ และตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ พบว่าอยู่ที่ 2.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากสิ้นปีก่อนหน้า

ด้านนายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับคุณภาพหนี้ของสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารยังสามารถควบคุมเอ็นพีแอลได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการปล่อยสินเชื่อใหม่โดยเฉพาะแนวสูงปัจจุบันลดลงต่อเนื่องตามความต้องการสินเชื่อที่ลดลง หลังมีการใช้เกณฑ์กำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) แต่ผู้ประกอบการปรับตัวได้ดี หันไปทำแนวราบมากขึ้ เพื่อลดผลกระทบ 

"พอร์ตลูกค้าแบงก์ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาด ซึ่งเวลาเราปล่อยสินเชื่อ เราก็ดูคนที่มีความชำนาญในธุรกิจนี้ ดูทำเล และดูเรื่องอัตรายอดขาย อัตราหนี้ต่อทุน เพื่อประกอบการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อด้วย” นายวีรศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังมีแผนปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ธนาคารต้องเลือกปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น เช่น การปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการที่มีการก่อสร้างไปบ้างแล้ว เพื่อให้ธนาคารมั่นใจว่าจะไม่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญมากขึ้น สำหรับโลเคชั่นในการก่อสร้าง ว่าไม่เป็นพื้นที่ ที่มีอุปทานคงเหลือจำนวนมาก 

"ภาพรวมสินเชื่อชะลอไปบ้าง ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว  โดยปีนี้ภาพรวมคาดยอดขายอสังหาฯ ยังลดลง 15-30% และในต่างจังหวัดชะลอลงถึง 50% แม้จะมีมาตรการหนุน แต่การขยายตัวก็อาจไม่เติบโตเหมือนในอดีต จนกว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีระดับหนึ่ง"