TDRI หนุน วช.วิจัยวางกรอบ 'ประเทศไทยในอนาคต'

TDRI หนุน วช.วิจัยวางกรอบ 'ประเทศไทยในอนาคต'

นักวิชาการ TDRI ดึงความเชี่ยวชาญด้านนโยบายร่วมสนับสนุนโครงการวิจัย “ประเทศไทยในอนาคต” วิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาประเทศในมิติทางเศรษฐกิจและการศึกษา ปูทางร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติรับอนาคต 20 ปี

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ประกาศเปิดตัวโครงการ “ประเทศไทยในอนาคต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการท้าทายไทย (Grand Challenge) เพื่อวิเคราะห์ คาดการณ์รายละเอียดภาพของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด ซึ่งถือเป็นแผนสำคัญที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งตั้งรับกับสิ่งที่ไม่คาดหวังใน 10 มิติสำคัญในอนาคต คือ 1.ประชากรและโครงสร้างสังคม 2.สังคม ชนบท ท้องถิ่น 3.การศึกษา 4.สิ่งแวดล้อมและพลังงาน 5.เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม 6.เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ 7.วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย) 8.เมือง 9.บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ 10.คนและความเป็นเมือง

7เทรนด์ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้เป็นการวางแผนระยะยาวในอนาคต เพื่อที่จะรู้ว่าอีก 20 ปีเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้จำเป็นต้องดูเรื่องเทรนด์ว่า มีปัจจัยสำคัญอะไรที่จะส่งผลกระทบ จึงต้องมีการวิจัยสำรวจข้อมูลย้อนหลัง พบว่า เศรษฐกิจไทยจากเดิมที่เคยโต 8-9% ก็เริ่มชะลอตัวและถดถอยเหลือเพียง 4.9% ทั้งจากปัญหาการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจ ท้ายสุดเฉลี่ยปีหลังๆ นี้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 3.5% เท่านั้น ตัวเลขเหล่านี้สามารถคาดการณ์ได้ปีต่อปี แต่หากต้องการที่จะวางแผนอนาคต 20 ปีจะต้องมองหาปัจจัยหรือเทรนด์ใหม่มาประกอบการพิจารณา

158013118490

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่จะต้องนำมาวิเคราะห์วิจัย ประกอบด้วย 7 ปัจจัย ได้แก่ 1.โครงสร้างประชากร 2.คุณภาพประชากรที่จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพ อาทิ ผลักดันให้จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเพิ่มขึ้น 3.โครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องจัดหากิจกรรมมาส่งเสริมให้ดีขึ้น อาทิ ลดการพึ่งพาภาคการเกษตรและหันมาสนับสนุนภาคการบริการ ซึ่งเป็นคีย์หลักสำคัญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับสูง

4.เศรษฐกิจโลกที่มีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออก 5.ทิศทางดีมานด์ในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ประเทศกำลังพัฒนากำลังจะก้าวขึ้นมาเป็น New Middle Class หรือชนชั้นกลางเติบโตเร็ว ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการเป็นจำนวนมาก

“นับเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย ที่จะขยายตลาดไปกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (New Frontiers) และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากตลาดหลักที่ชะลอตัว แต่เราจะต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งหลายประเทศในกลุ่มตลาดใหม่นี้ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการไทย ประกอบกับที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้น จะต้องมีการวิจัยและศึกษาตลาดตรงจุดนี้เพื่อเป็นเรดาร์ชี้ทิศทางการทำตลาดแก่ผู้ประกอบการ และอนาคตของเศรษฐกิจไทยต่อไป”

จับตาตลาดมิดเดิลคลาส


UN คาดว่าในปี 2573 เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลกจะอยู่ในกลุ่ม New Frontiers ถึง 9 เมือง เช่น กรุงนิวเดลี (อินเดีย) เมืองเซี่ยงไฮ้ (จีน) กรุงไคโร (อียิปต์) กรุงเม็กซิโกซิตี้ (เม็กซิโก) เมืองเซาเปาโล (บราซิล) สินค้าและบริการที่จะเจาะกลุ่มมิดเดิลคลาส ต้องสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตแบบสังคมเมือง เช่น การอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม การบริโภคอาหารจานด่วนหรืออาหารสำเร็จรูป การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ เป็นต้น อีกทั้งกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

158013109110

6.เทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ 7.การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ อาทิ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็จะมีการเน้นลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในพื้นที่อีอีซี หากตรงจุดนี้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นโอกาสในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศด้วย

“ทั้ง 7 เทรนด์นี้เป็นฟันเฟืองหลักที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องศึกษาและวิจัยเทรนด์ทั้งหมด เพื่อที่จะวิเคราะห์ภาพอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้าที่จะส่งผลต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศและตั้งรับกับสิ่งที่ไม่คาดหวังได้” นายนณริฏ กล่าว

ศึกษาเชิงลึกมิติการศึกษา

นางณิชา พิทยาพงศกร นักวิชาการ TDRI ทีดีอาร์ไอ กล่าวในมิติทางการศึกษาว่า ทีดีอาร์ไอทำงานวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ของภาคการศึกษา จึงเล็งเห็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ 1.โครงสร้างการศึกษาจำเป็นต้องลดขนาดลง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ แต่ความท้าทายอยู่ที่นโยบายรัฐบาลจะต้องจัดทำโรดแมพอย่างเป็นระบบ

158013105151

2.ความสำคัญของนโยบายการศึกษาถูกลดลง ความท้าทายคือ จะต้องศึกษาต่อไปว่าความสำคัญที่ “ลดลง” ของภาคการศึกษานั้น ปัจจัยที่มากระตุ้นคืออะไร เพื่อที่จะเข้าใจไดนามิกว่า ต่อไปในอีก 20 ปีข้างหน้าการศึกษาจะเป็นอย่างไร 3.ปรับเป้าหมายการเรียนรู้ สู่การสร้างสมรรถนะ เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้โลกการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้เรียนอาจไม่พร้อมกับโลกอนาคต ความท้าทายคือ จะเตรียมความพร้อมให้กับครูผู้สอนได้อย่างไร เพื่อจัดการเรียนรู้แบบใหม่

4.การเพิ่มทักษะคนวัยทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยประการที่ว่าเทคโนโลยีทำให้ทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการเปลี่ยนไป แรงงานไทยกว่า 8.2 ล้านคน จำนวนกว่าครึ่งหรือ 58% จบการศึกษาต่ำกว่ามัธยมตอนต้น และอยู่ในงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี

แรงงานทุกระดับจึงต้องมีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในระดับนานาชาติ สิงคโปร์เปิดนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้ของคนวัยทำงานอย่างจริงจัง อาทิ โครงการ SkillsFuture ดังนั้น ความท้าทายของประเทศไทยคือ รัฐบาลจะสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเพิ่มทักษะคนไทยทุกช่วงวัยได้อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วภาคการศึกษาก็จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนที่จะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน