ละเมิด 'วิดีโอออนไลน์' กระทบเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้าน 

ละเมิด 'วิดีโอออนไลน์' กระทบเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้าน 

จุฬาฯ เผยละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการแชร์วิดีโอออนไลน์สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจกว่า 9 หมื่นล้านบาท สูญจีดีพี 0.55 % อัตราจ้างงานลดลงกว่าสี่หมื่นตำแหน่ง ชี้กฎหมายไทยยังอ่อนทำได้เพียงยื่นคำร้องขอให้ระงับหรือบล็อก กระบวนการบังคับคดีทำได้โดยรัฐเท่านั้น

นายพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาในโครงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ออุตสาหกรรมของสื่อออนไลน์ในไทยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกฎหมาย (COPYRIGHT & VIDEO SHARING PLATFORM) โดยศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบความเสียหายของการละเมิดลิขสิทธิ์บนวิดีโอแชริ่งแพลตฟอร์ม (วีเอสพี) ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มูลค่าระหว่าง 58,575-92,519 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.35-0.55% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สูงสุดรวมกว่า 44,782 ล้านบาท ทำให้การจ้างงานลดลงเป็น 24,030-37,956 ตำแหน่ง ทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ยังเป็นปัญหาสําคัญที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน 

อีกทางหนึ่งการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานยังส่งผลให้ผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์รู้สึกหมดกำลังใจอย่างมีนัยยะสำคัญ และยังส่งผลให้แพลตฟอร์มที่มีการดำเนินการซื้อขายคอนเทนท์อย่างถูกต้องได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากงานอันมีลิขสิทธิ์อาจถูกละเมิดโดยไม่ได้รับการชดเชย หรือมีการนำไปใช้เพื่อการแมชอัป โดยเจ้าของลิขสิทธิ์เองไม่ได้รับส่วนแบ่งด้วย

158013745414

นายปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทั้งผู้สร้างสรรค์งานรวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ได้แสดงความกังวลว่าได้รับความเสียหายจากการไม่บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ดีและชัดเจนพอบนวีเอสพีในประเทศไทย 

ขณะเดียวกัน มีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากวิดีโอที่นำเข้าสู่ระบบเช่น การโพสต์หรือถ่ายทอดสดวิดีโอของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน รวมทั้งการไลฟ์ อาทิ การโพสต์หรือถ่ายทอดสดวิดีโอของตนเองที่มีงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นเป็นองค์ประกอบสำคัญ ตลอดจนการโพสต์หรือถ่ายทอดสดวิดีโอของตนเองที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น ยังมีความล่อแหลม และยากต่อการประเมินว่าอาจมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งบางกรณีก็เห็นได้ชัด บางกรณีก็ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เขากล่าวว่า ข้อกฎหมายและการบังคับใช้ทางกฎหมายของไทยยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของแพลตฟอร์มสามารถจัดการสกัดกั้นกับผลงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทันที แม้จะมีเทคโนโลยีรองรับแล้ว โดยจะต้องมีขั้นตอนในการขอหมายศาล ต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาเสียก่อน จึงเกิดความยุ่งยากให้กับทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะดำเนินการเอาผิดผู้กระทำละเมิด

"วันนี้กระบวนการบังคับคดีโดยรัฐและการมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอาญาเป็นหลักนั้น ยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ควรที่จะพิจารณาเพิ่มทางเลือกในการบังคับคดีโดยเอกชน ผู้ประกอบการสามารถใช้กระบวนการในลักษณะเดียวกันกับการแจ้งเตือนให้เอาเนื้อหาออก (notice & takedown) โดยเฉพาะการแจ้งเตือนไปยังวีเอสพีหรือเจ้าของแพลตฟอร์มที่ควบคุมดูแลเนื้อหาโดยตรง"