'ดับบลิวเอชเอ' เร่งสปีด จ่อเปิดนิคมฯ เพิ่ม 3 แห่ง

'ดับบลิวเอชเอ' เร่งสปีด จ่อเปิดนิคมฯ เพิ่ม 3 แห่ง

"ดับบลิวเอชเอ" วางแผนเร่งขยายนิคมฯ เพิ่ม 3 แห่ง นำร่องครึ่งหลังปียี้เปิดนิคมฯ ที่ระยอง 1.2 พันไร่

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่สำคัญในการดึงดูการลงทุน โดยในปี 2562 มีบริษัทยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 756,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นกาลงทุนในอีอีซี 506 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดระยองมากที่สุด รองลงมาจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา

“ดับบลิวเอชเอ” ได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 48,913 ไร่ มีพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่ารวมพื้นที่ 875,000 ตารางเมตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอีอีซี

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในอีอีซีอยู่ในเกณฑ์ดี โดยที่ผ่านมามีต่างชาติติดต่อเข้ามาเยอะมาก เช่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ซึ่งได้มีการจับคู่ธุรกิจและเตรียมพื้นที่รองรับนิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักธุรกิจเกาหลีใต้ ที่ส่วนใหญ่มาลงทุนอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี

สำหรับการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในปี 2563 ดับบลิวเอชเอ จะพัฒนาเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรม WHA R36 อยู่บนทางหลวงหมายเลข 36 จ.ระยอง มีพื้นที่ 1,200 ไร่ จะเปิดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ส่วนในปี 2564 จะเพิ่มอีก 1 แห่ง ใน จ.สระบุรี ซึ่งติดกับเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี (WHA SIL) ที่มีพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ และในปี 2565 จะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมทุนกับบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) พื้นที่ 2,200 ไร่ ซึ่งจะเป็นสมาร์ทซิตี้แล้วเป็นนิคมฯเอกชนรายเดียวที่ได้สมาร์ทซิตี้จากภาครัฐ

ดับบลิวเอชเอ เตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนของผู้ประกอบการหลายกลุ่ม รวมถึงการจัดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเอสเอ็มอี ซึ่งได้กันพื้นที่เพื่อเอสเอ็มอีไว้เกือบทุกนิคมอุตสาหกรรม โดยจะเป็นการสร้างโรงงานสำเร็จรูปเพื่อให้เอสเอ็มอีเช่าดำเนินกิจการ

158013068970

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องปรับความคิดจากเดิมที่มุ่งในการลงทุนซื้อที่ดินเครื่องจักรเพื่อตั้งโรงงาน ควรจะเปลี่ยนเป็นการเช่าโรงงานสำเร็จรูปจะดีกว่า ในส่วนของเครื่องจักรก็เริ่มมีธุรกิจให้เช่าแล้ว ซึ่งหากเปลี่ยนมาเช่าโรงงานก็จะช่วยให้เงินลงทุนไม่จม สามารถนำส่วนที่เหลือไปต่อยอดปรับปรุงการผลิตได้มากขึ้น หากมีขนาดใหญ่แล้วจึงค่อยลงทุนซื้อที่ดินตั้งโรงงาน จึงจะเป็นแนวคิดที่ประสบความสำเร็จมากกว่า

ปัจจุบันดับบลิวเอชเอ มีที่ดินมากกว่าหมื่นไร่ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ซื้อที่ดินเพิ่มมากนักเพราะมีเพียงพอแล้ว แต่มีการซื้อเพื่อต่อที่ดินให้มีรูปแปลงที่สวยขึ้น โดยที่ดินที่มีอยู่จะทยอยพัฒนาและคาดว่าจะรองรับการขายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี 

รวมทั้งหากมีจังหวะก็จะทยอยซื้อที่ดินเพิ่ม เพราะธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซียังไม่ถึงจุดอิ่มตัว เพราะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งลูกค้าใหม่และเก่า โดยลูกค้าที่เข้ามาไม่ได้ดูในเรื่องของราคาที่ดินอย่างเดียว แต่จะดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทำเล ระบบโลจิสติกส์ ซึ่งดับบลิวเอชเอได้ลูกค้ารายใหญ่ทุกปี เพราะมีที่ดินแปลงใหญ่ที่จะขายให้ลูกค้าได้และมีการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมรองรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่งในอนาคตธุรกิจอีคอมเมิร์ชก็จะทยอยเข้ามาอีกมากและจะมีการเตรียมพื้นที่สำหรับกลุ่มนี้ด้วย

ส่วนปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นไม่ห่วงในภาคตะวันออกมากเท่าไร เพราะมีการเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว แต่เป็นห่วงในระยะยาวดูภาครัฐวางแผนอย่างไร เพราะเมื่ออีอีซีเกิดขึ้นจะทำให้โรงงานมากขึ้น และมีประชากรในอีอีซีเพิ่มขึ้น จึงต้องวางแผนการใช้น้ำให้ดี 

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอทุกแห่งมีแหล่งน้ำสำรองดูแลลูกค้าอย่างทั่วถึง รวมทั้งมีการวางแผนร่วมกับลูกค้าจัดตารางในการหยุดซ้อมบำรุงเครื่องจักรประจำปีให้มาหยุดในช่วงหน้าแล้งก็จะช่วยลดการใช้น้ำได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้นำน้ำกลับมาใช้ได้มากกว่า 20% ในขณะนี้ดับบลิวเอชเอบำบัดน้ำเสีย 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีการขายน้ำ 60-70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ดับบลิวเอชเอ คาดว่ารายได้ในปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยมีลูกค้าหลายรายที่ลงนามสัญญาในปีที่แล้วไม่ทัน ก็จะเห็นตัวเลขในไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งเป็นแรงส่งที่ต่อเนื่องมาถึงปีนี้

ขณะที่เม็ดเงินลงทุนใน 2562 ตั้งไว้ที่ 10,000 ล้านบาท สูงจากเดิมที่ตั้งไว้ 8,000 ล้านบาท เพราะไปซื้อธุรกิจน้ำในเวียดนาม 2,800 ล้านบาท โดยในปี 2563 จะมีวงเงินลงทุนประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท โดยแผนการลงทุนตั้งแต่ปี 2563-2567 คาดว่าจะลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท

“นิคมอุตสาหกรรมในไทย และเวียดนามไม่ได้แข่งขันกัน โดยกลุ่มที่ใช้แรงงานเยอะก็จะมุ่งไปเวียดนาม กลุ่มรองเท้าเครื่องนุ่งห่มที่ใช้แรงานเยอะจากจีนก็ย้ายไปเวียดนาม และกลุ่มที่ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ใช้แรงงานน้อย และเป็นอุตสาหกรรมระดับสูงเทคโนโลยีสูงก็จะมาที่ไทย กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะไทยก็ไม่รับเข้ามา”

ส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ที่ช้ากว่าแผน ไม่กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน เพราะเข้าใจดีในประเทศอื่นภูมิภาคนี้ก็มีการล่าช้าของโครงการเป็นเรื่องปกติของธุรกิจก่อสร้าง โดยที่ผ่านมาไทยได้ผ่านกฎหมายอีอีซีแล้ว มีการประมูลงานจริง มีบางโครงการที่ได้ตัวผู้ดำเนินการแล้ว แต่ล่าช้าไป 1 ปี ก็ยอมรับไม่กระทบความมั่นใจ

ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยนอกนิคมอุตสาหกรรมยังไม่ขยายตัวเพราะลูกค้ายังไม่เพิ่มขึ้น โดยต้องรอให้นิคมอุตสาหกรรมขายที่ดินได้ก่อน ซึ่งเมื่อมีการสร้างโรงงานจะเกิดการจ้างงาน และความต้องการที่อยู่อาศัยจะขยายตัวตามมา โดยลูกค้าที่เข้ามาสิ่งแรกที่ถามจะมีที่พักอาศัยให้บุคลากรของเขาหรือไม่ จะต้องเกิดการสร้างโรงงานก่อนใช้เวลา 1-2 ปี 

ช่วงนี้ที่ยอดขายนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2562 เห็นลูกค้าเข้ามามาก และในปี 2563-2564 จะเห็นธุรกิจที่อยู่อาศัยจะเติบโตตามมา ซึ่งกลุ่มที่จะเข้ามาทำงานในอีอีซีไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่จะมาจากทั่วประเทศและต่างประเทศ