เอ็นไอเอจุด 'พลังนวัตกรรม' อัพความสุข 8,200 ครัวเรือน

เอ็นไอเอจุด 'พลังนวัตกรรม' อัพความสุข 8,200 ครัวเรือน

เอ็นไอเอเปิดตัว 6 นวัตกรรม ยกระดับชีวิตพ่ออุ๊ย - แม่อุ๊ยเมืองน่าน ภายใต้โครงการ “หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม” เผยเทรนด์การทำนวัตกรรมยุคใหม่ต้องเดินด้วยแนวคิด "สี่เหลี่ยมนวัตกรรม"

กลไกจับคู่ชุมชนกับนักพัฒนา

YAKSA เครื่องอัดขยะขนาดเล็กสำหรับครัวเรือนลดพื้นที่การจัดเก็บขยะ, Neo Solar ระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมด้วย IoT ตัวอย่าง 2 ใน 6 ผลงานนวัตกรรมที่นำไปใช้จริงในชุมชนเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ภายใต้โครงการ “หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม” โดยสำนักงานนวัตกรรมฯ


“หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม” เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่เอ็นไอเอมีความตั้งใจในการยกระดับชุมชนในกลุ่มจังหวัดยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์บริบทแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมุ่งยกระดับสินค้าและบริการให้มีศักยภาพที่เพียงพอต่อการนำออกไปสู่ช่องทางตลาด

158012689612
ภาพ:โครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบโดมร่วมกับการแผ่รังสีอินฟราเรดระยะไกลจากแผ่นเซรามิกเพื่อช่วยในการแปรรูปผลไม้

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ เปิดเผยว่า ปี 2562 ได้ร่วมพัฒนาและส่งต่อนวัตกรรมไปยังชุมชนในกลุ่มจังหวัดยากจน 6 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1.ชุมชนเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน 2.ชุมชนอุ้มผาง จ.ตาก 3.ชุมชนหนองมะโมง จ.ชัยนาท 4.ชุมชนจะรัง อ.ยะหยิ่ง จ.ปัตตานี 5.ชุมชนเฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และ 6.ชุมชนแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน


ยกตัอย่างชุมชนเมืองจัง ที่โจทย์ปัญหาจากพื้นที่มีทั้งเกษตรอัจฉริยะ การบริหารจัดการน้ำ นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชน และการทำเกษตรอินทรีย์ หลังจากที่เอ็นไอเอได้รับโจทย์ข้างต้น จึงได้ทำการจับคู่นวัตกรรม (Matching) ด้วยการให้ชุมชนได้มีโอกาสเลือกโซลูชั่นที่สามารถแก้ไขปัญหาจากนักวิจัย สตาร์ทอัพและผู้พัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ส่งผลงานเข้ามานำเสนอกับทางเอ็นไอเอ


เอ็นไอเอได้พัฒนาและส่งต่อนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริบทและปัญหาของพื้นที่ทั้งสิ้น 23 นวัตกรรมใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการเงิน การจ้างงานและสวัสดิการสังคม ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ด้านสุขภาพ ด้านความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร น้ำ และพลังงาน และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนใน 6 ชุมชนได้กว่า 8,200 หลังคาเรือน คิดเป็นเงินทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงการกว่า 19 ล้านบาท เกิดมูลค่าโครงการมากกว่า 40 ล้านบาท และปัญหาที่ได้รับการบรรเทามากที่สุดก็คือ ด้านอาหาร น้ำและพลังงานทดแทน

158012682693

ภาพ YAKSA เครื่องอัดขยะในครัวเรือน เพื่อลดพื้นที่การจัดเก็บขยะ

สำหรับ 6 นวัตกรรมที่ได้นำไปใช้จริงแล้วในชุมชน ได้แก่ โครงการ Organic Circle นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร ระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบโดมร่วมกับการแผ่รังสีอินฟราเรดระยะไกลจากแผ่นเซรามิก เพื่อช่วยในการแปรรูปผลไม้ โครงการนวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง YAKSA และ Neo Solar ข้างต้น

โมเดลสี่เหลี่ยมนวัตกรรม

พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตเทรนด์การสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากจะต้องเปลี่ยนแนวคิด จากเดิมที่ยังอยู่ในรูปแบบของ “สามเหลี่ยมนวัตกรรม” คือมีเพียงนักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ ที่เป็นผู้พัฒนาในลักษณะผูกขาด มาเป็น “สี่เหลี่ยมนวัตกรรม” ซึ่งจะต้องควบรวมภาครัฐ นักวิจัย ผู้ประกอบการ และคนในชุมชนร่วมกันกำหนดแนวทาง เพื่อให้เกิดมิติและประสิทธิภาพการทำนวัตกรรมที่ดีมากขึ้น

158012685341

ภาพ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

การดำเนินรอยตามแนวคิดสี่เหลี่ยมนวัตกรรมจะต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของแต่ละองค์กรที่เป็นพันธมิตร เพื่อลดความเสี่ยงของโครงการที่มาร่วมมือกันเป็นเครือข่ายหุ้นส่วน


นอกจากนี้จะต้องมีการดำเนินงานโครงการอย่างเปิดเผย มีเป้าหมายร่วมกันในการทำธุรกิจใหม่ และสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดนอกเหนือจากมูลค่าหรือผลกำไรของธุรกิจคือ นวัตกรรมเหล่านี้ต้องเกิดคุณค่าทางสังคม มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนมากทั้งจากภายในและภายนอก สามารถต่อยอดและนำไปพัฒนาได้ในระดับเดียวกัน หรือสูงกว่า รวมทั้งต้องพัฒนาให้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน

ปี63 เดินหน้าเพิ่ม 3 ชุมชนในอีสาน

พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อตอบโจทย์แนวคิดนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ในปี 2563 NIA โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม ยังเตรียมเปิดรับผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่พร้อมขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมาย     ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3 ชุมชน ได้แก่

158012695615

ภาพ Neo Solar ระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมด้วยระบบ IoT


·        ชุมชนแคนดง อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ในหัวข้อ เกษตรปลอดภัยแปลงใหญ่แบบผสมผสาน การบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตร เกษตรอัจฉริยะ เช่น ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร นวัตกรรมตลาดสำหรับผลผลิตทางเกษตร นวัตกรรมด้านปศุสัตว์ เช่น สุกร
·        ชุมชนท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ในหัวข้อ นวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม การบริหารจัดการน้ำ เช่น การจัดการน้ำสำหรับการปลูกไผ่ นวัตกรรมตลาดสำหรับสินค้าชุมชน เช่น แคน โหวด พิณนวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นวัตกรรมด้านปศุสัตว์ เช่น กระบือไทย
·        ชุมชนหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ในหัวข้อ นวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม การบริหารจัดการน้ำ เช่น การจัดการน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภค นวัตกรรมยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ข้าวหอมอินทรีย์มะลิแดง จักสาน หม่อนไหม นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น สมุนไพร และนวัตกรรมด้านปศุสัตว์ เช่น กระบือไทย

ทั้งนี้ เอ็นไอเอเปิดรับสมัครนิติบุคคล เช่น บริษัท วิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจเพื่อสังคม สมาคม มูลนิธิ อาจารย์และนักวิจัย ที่มีผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ นำเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบให้เปล่า (grant) ในการพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเงินสนับสนุนสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ ได้ตั้งแต่วันนี้-14 ก.พ.นี้ สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ https://social.nia.or.th/service/support/