'อีเอ' เปิดตัว 'พีซีเอ็ม' ต่อยอดธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ชูเป้ารายได้ 800 ล้าน

 'อีเอ' เปิดตัว 'พีซีเอ็ม' ต่อยอดธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ชูเป้ารายได้ 800 ล้าน

‘พลังงานบริสุทธิ์’ เปิดตัว ‘พีซีเอ็ม’ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปาล์ม ขายอุตสาหกรรมก่อสร้างและสิ่งทอ ตั้งเป้ารายได้ 800 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าลุยธุรกิจแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า หลีกการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจขายไฟฟ้าแบบเดิม

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินโครงการ นวัตกรรมสังคมองค์กรปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรสู่การบริหารและการทำงานแบบบูรณาการยังประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน หรือ CSI (Corporate Social Innovation) ด้วยเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตต้นแบบ ‘สารเปลี่ยนสถานะ’ หรือ PCM (Phase Change Material) จากน้ำมันปาล์มเป็นรายแรกของโลก

สำหรับผลิตภัณฑ์ PCM นี้ จะถูกใช้ในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง และอุตสาหกรรมสิ่งทอ จากคุณสมบัติที่ช่วยควบคุมอุณภูมิ ทำให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น สำหรับปีนี้ตั้งเป้าผลิต 130 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับบริษัทปีละประมาณ 800 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,000 ตันต่อวัน ในอีกไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้ ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ออกแบบแอพลิเคชั่น ‘ปาล์มยั่งยืน’ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่นำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยควบคุมและทำให้ทุกคนสามารถตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการทั้งหมดได้

“บริษัทเชื่อว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปาล์มน้ำมันจะช่วยให้ราคาของปาล์มสูงขึ้น ทั้งจากตัวผลิตภัณฑ์ PCA เอง ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการดูดเอา Supply ของปาล์มออกมาจากระบบ ทั้งนี้ ราคาขายของ PCA ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80 – 120 บาทต่อกิโลกรัม โดยตลาดหลักของผลิตภัณฑ์จะอยู่ต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ซึ่งมีการออกกฎหมายให้ต้องผสมสาร PCM ในการสร้างบ้าน รวมถึงประเทศเยอรมัน และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่เริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้”

ด้าน นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ทิศทางของ EA ต่อจากนี้จะยังคงเดินไปตามนโยบายของบริษัท ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของ Energy storage อาทิ แบตเตอรี่ รวมถึงเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ในปัจจุบันจะเห็นว่าโอกาสของการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมลดลงไป แม้แต่พลังงานทดแทนซึ่งเป็นกระแสมาได้ไม่นานนัก

“ทุกวันนี้พลังงานโซลาร์แทบจะกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ไปแล้ว ต้องแข่งขันกันด้วยการตัดราคา ขณะที่โอกาสของการลงทุนทั้งในและต่างประเทศก็เริ่มลดลง อย่างในเวียดนาม แม้จะมีการเปิดรับการลงทุนจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายที่เปิดรับ หรืออย่างในไต้หวันซึ่งยังมีความเป็นไปได้จากการเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม แต่ราคาค่าไฟที่รัฐบาลเปิดรับนั้นค่อนข้างจะต่ำมาก”

ในส่วนของ EA ที่เริ่มขยายธุรกิจใหม่ๆ ในระยะหลัง จะช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจที่ทำอยู่ อย่างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยเฟสแรกจะเริ่มผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 เพื่อนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ขณะเดียวกันก็มีความพร้อมที่จะพัฒนาต่อเนื่องอีก 49 เมกะวัตต์ หากทุกอย่างดำเนินไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ บริษัทคาดยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ประมาณ 5,000 คัน ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยช่วงไตรมาส 2 จะมีการทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า ประมาณ 800 คัน จากยอดจองเดิมที่มีแล้วในช่วงปี 2562 ประมาณ 3,500 คัน