ไทยสกัด 'ไวรัสโคโรน่า2019' กรอง-กัก-รักษาจนหายป่วย

ไทยสกัด 'ไวรัสโคโรน่า2019' กรอง-กัก-รักษาจนหายป่วย

จนถึงวันที่ 27 ม.ค. 5 ใน 8 รายผู้ป่วยยืนยันที่ประเทศไทยพบติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 สามารถรักษาหายดีและออกจากรพ.แล้ว อีก 3 รายอาการทั่วไปดีขึ้น นับว่ามาตรการสกัดไวรัสนี้ไทยยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเส้นทางตั้งแต่การคัดกรอง กักตัว

เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มมาตรการคัดกรองที่สนามบินในผู้เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2563 ช่วงเวลาที่คนไทยหลายคนยังสนุกสนานกับเทศกาลปีใหม่ และดำเนินการภายหลังจากที่จีนประกาศปอดอักเสบระบาดเพียง 3 วัน ขณะที่ยังไม่รู้ถึงสาเหตุของโรคนี้ และก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือ 2 สายการบินที่บินตรงจากอู่ฮั่นมาไทยให้คัดกรองที่ต้นทางด้วย หากป่วยห้ามเดินทาง

ทันทีที่เที่ยวบินจากเมืองอู่ฮั่นจนปัจจุบันเพิ่มเมืองที่เป็นพื้นที่เสี่ยงระบาดจากประเทศจีนอื่นๆ ด้วย ลงจอดที่สนามบิน กระบวนการคัดกรองเฝ้าระวังโรคของไทยก็เริ่มต้นขึ้นทันที ตั้งแต่การกำหนดจุดเข้าจอดเฉพาะเที่ยวบินเหล่านี้

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เล่าถึงขั้นตอนการคัดกรองว่า เมื่อเครื่องบินลงจอด จะมีเจ้าหน้าที่คัดกรองผู้เดินทางทุกรายที่บริเวณประตูเครื่องบิน เพราะเป็นจุดที่ผู้โดยสารยังไม่ได้สัมผัสกับคนอื่นๆนอกจากผู้ที่เดินทางมาในเที่ยวบินเดียวกันเท่านั้น โดยใช้เครื่องเทอโมสแกน และขณะนี้เพิ่มจุดคัดกรองที่บริเวณก่อนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองอีกจุดด้วย หากพบว่ามีอาการไข้ จะถูกเชิญตัวไปยังด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศภายในสนามบิน และประสานรถรพ.เข้ามารับตัวเป็นการเฉพาะนำส่งรพ. เป็นการปิดกั้นผู้ป่วยต้องสงสัยสัมผัสกับคนอื่นน้อยที่สุด

อ่านข่าว
‘สี จิ้นผิง’ สั่งเด็ดขาดรับมือไวรัสโคโรน่า ล่าสุดพบผู้ป่วยเด็กที่สุดเพียง 2 ขวบ

158011750353

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า "ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สงสัยต้องเฝ้าระวัง(Patient Under Investigation :PUI)" เพราะเข้าเกณฑ์ 3 ข้อ คือ ไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ และเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงโรคระบาด หลังส่งตัวเข้ารับการรักษาซึ่งในระยะแรกจะเป็นที่สถาบันบำราศนราดูร กรมคร. แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกทม.และต่างจังหวัดมีความพร้อมในการรองรับแล้ว "ผู้ป่วยต้องสงสัย" จะถูกนำเข้ารักษาในห้องปลอดเชื้อความดันเป็นลบ ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปคนอื่น

แพทย์จะเข้าตรวจรักษาโดยใส่ชุดป้องกันโรค พร้อมกับเก็บตัวอย่างเสมหะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์วิทยาศาสตร์ (ห้องแล็ป) เพื่อตรวจสอบว่าติดเชื้ออะไรหรือไม่ ซึ่งห้องแล็ป 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะต้องยืนยันผลตรงกันว่าเป็นเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 แต่ก็ไม่ได้สรุปในทันทีว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นผู้ติดเชื้อชนิดนี้

"การที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และรายงานไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วยนั้น ไม่ได้ดูจากผลแล็ปเพียงอย่างเดียว จะต้องนำข้อมูลทางระบาดวิทยาและทางคลินิกมาประกอบด้วย ก่อนนำเข้าสู่คณะผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยพิจารณายืนยันในขั้นตอนสุดท้าย จึงจะประกาศได้ว่าไทยพบผู้ป่วยยืนยัน" นพ.สุวรรณชัยกล่าว



หลังยืนยันผู้ป่วยแล้ว เจ้าหน้าที่จะติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยทุกรายทั้งคนในครอบครัว ผู้ร่วมเดินทาง ผู้ที่อยู่ในเที่ยวบินเดียวกัน แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลรักษาด้วย โดยผู้ป่วยยืนยัน 1 คน จะต้องติดตามเฝ้าระวังในคนอื่นๆ กว่า 40 คน ทั้งหมดนี้ประเทศไทยทำอย่างละมุนละม่อมแต่เด็ดขาด

"เมื่อผู้ป่วยยืนยัน ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น สามารถออกจาก รพ.ได้ จะต้องมีการเก็บเสมหะส่งตรวจห้องแล็ปซ้ำอีกครั้งว่าไม่มีเชื้อแล้ว ซึ่งจะต้องตรวจจนกว่าจะไม่พบแม้แต่สารพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ แพทย์จึงจะอนุญาตให้ออกจากรพ.ได้ ถ้ายังตรวจพบสารพันธุกรรมฯแม้คนไข้หายดีแล้วก็ยังไม่ให้ออกจากห้องแยกโรค" นพ.สุวรรณชัยกล่าวย้ำ

158011753464

ทว่า หากเป็นผู้เดินทางที่ผ่านการคัดกรองด่านแรกที่ประตูเครื่องบินเพราะยังไม่มีอาการป่วย จะได้รับการแจกการ์ดแนะนำการปฏิบัติตัวกรณีป่วยระหว่างอยู่ในประเทศไทย ซึ่งก็มีผู้ที่ป่วยภายหลังปฏิบัติตามเข้ารับการรักษาในรพ.และแจ้งประวัติการเดินทาง เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับรักษา ก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน

ผู้ป่วย 4 ใน 5 รายที่หายดีและออกจาก รพ.แล้วนั้น เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร บอกว่า สถาบันฯมีการตั้งคณะแพทย์ 6 คนเป็นทีมที่ให้การดูแลผู้ป่วยต้องสงสัย โดยอาการแรกรับของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ หายใจเร็วเล็กน้อย ไอนิดหน่อย และอาการของปอดอักเสบ อาการไม่รุนแรงวิกฤติ ได้ให้การรักษาตามหลักวิชาการของปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส คือ รักษาตามอาการ และยังไม่พบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น เมื่อมีอาการไข้ให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำ ให้ออกซิเจนที่เพียงพอ ให้พักผ่อนมากๆอย่างเพียงพอ เมื่อถึงระยะหนึ่งร่างกายจะสามารถสร้างภูมิมาต่อสู้กับเชื้อได้ ซึ่งระยะเวลาในการรักษา 7-10 วันรวมถึงระยะเวลาในการรอผลแล็ปด้วย เมื่อผู้ป่วยหายดีและตรวจไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อแล้ว ก็จะส่งกลับประเทศจีนโดยที่มีเจ้าหน้าที่นำไปส่งเป็นการเฉพาะจนถึงประตูเครื่องบิน

"ในการดูแลผู้ป่วยยืนยันที่สถาบันบำราศฯซึ่งที่เจอมาแล้วเป็นชาวจีนทั้งหมดนั้น ความยากอย่างหนึ่งของแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแล คือเรื่องของการสื่อสาร แม้จะมีล่ามภาษาจีน แต่ก็ต้องเผชิญกับความหวั่นกลัวของผู้ป่วย แต่ไม่ต้องการที่จะเข้ารับการรักษาในห้องแยกโรคที่จะต้องอยู่คนเดียว เพราะเขาบอกว่าต้องการเดินทางมาท่องเที่ยว ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาโดนกักตัว ทำให้แพทย์ต้องใช้เวลาโอ้โลมปฏิโลมมาก ต้องดูแลแม้กระทั่งการซื้อซิมโทรศัพท์ให้คุยกับญาติ ถามตลอดว่ามีอะไรไม่สะดวกสบายตรงไหนหรือไม่" นพ.อภิชาตกล่าว

แม้เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะยังไม่มียาเฉพาะรักษา แต่ไม่ได้แปลว่าจะรักษาไม่ได้หรือผู้ป่วยต้องเสียชีวิตทุกราย ดังเช่นที่ประเทศไทยสามารถรักษาผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อที่พบในขณะนี้ได้ทุกราย