ผู้นำเทคโนโลยี ฝัน (ไม่) เป็นจริงของยูเออี

ผู้นำเทคโนโลยี ฝัน (ไม่) เป็นจริงของยูเออี

ผู้นำเทคโนโลยี ฝัน (ไม่) เป็นจริงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยการโทรศัพท์ผ่านเน็ตที่ทำกันได้ทั่วโลกแต่ในยูเออีทำไม่ได้ ต้องทำผ่านแอพพลิเคชั่น

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้ชื่อว่าเป็นประเทศทันสมัยสุดๆ ทุกอย่างเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็วทันใจ วันนี้ยูเออีกำลังผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี แต่เมื่อมีเรื่องฉาวเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นส่งข้อความยอดนิยมยิ่งตอกย้ำว่า ยูเออียังควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด

ตามแผนพัฒนาที่เรียกว่า “วิสัยทัศน์ 2021” ยูเออีได้ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปกับเทคโนโลยีใหม่และปัญญาประดิษฐ์ “เพื่อสร้างประเทศเป็นผู้นำในด้านบริการอัจฉริยะ” แต่แม้ประเทศจะมีคนต่างด้าวกว่า 9 ล้านคน คิดเป็น 90% ของประชากร แต่การติดต่อกับคนทางบ้านผ่านวอทส์แอพหรือสไกป์ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ

การโทรศัพท์ผ่านเน็ตที่ทำกันได้ทั่วโลกแต่ในยูเออีทำไม่ได้ ต้องทำผ่านแอพพลิเคชั่่น ทูทอค (To Tok) ที่พัฒนาขึ้นในอาบูดาบี

คนงานชาวปากีสถานคนหนึ่งเผยว่า เขาต้องซื้อการ์ดทุกเดือนสำหรับติดต่อครอบครัวด้วยวอทส์แอพ การ์ดนี้จะให้โค้ดเข้าเครือข่ายวีพีเอ็น ช่วยให้ผู้ใช้ทะลุทะลวงข้อจำกัดด้านอินเทอร์เน็ตได้

แม้หลายคนเลือกใช้วีพีเอ็นที่กึ่งๆ ผิดกฎหมายแต่หลายคนก็พึ่งทูทอค แอพพลิเคชั่นบนมือถือที่นิยมกันในยูเออีและตะวันออกกลางหลังจากเปิดตัวเมื่อปีก่อน

“ผมใช้ทูทอคเพราะเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ใช้วิดีโอคอลได้” ชาวอียิปต์รายหนึ่งเผย ปกติเขาใช้แอพนี้โทรคุยกับภรรยาและลูกสาวที่บ้าน แต่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานเมื่อเดือน ธ.ค.ว่า ยูเออีใช้ทูทอคล้วงข้อมูลผู้ใช้ รู้ว่าคุยอะไรกันบ้าง และจะทำอะไรเป็นเหตุให้กูเกิลและแอ๊ปเปิ้ลต้องถอดแอพนี้ออกจากแอพสโตร์ของตน

กูเกิลเพลย์เปิดให้ดาวน์โหลดแอพนี้อีกครั้งในเดือน ม.ค. โดยระบุให้ผู้ใช้อัพเดตแอพหลายรอบแต่แอ๊ปเปิ้ลสโตร์ยังไม่มีบริการ และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมยังไม่มี หรือจะมีหรือไม่ แต่บิล มาร์คแซค นักวิจัยจากซิติเซนแล็บ บริษัทวิจัยด้านความมั่นคงไซเบอร์ในแคนาดามองว่า เป็นไปได้ที่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายนี้อาจให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากกว่า

เขามองว่ากรณีทูทอค ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในสหรัฐด้วย โดดเด่นไม่เหมือนใครตรงที่เป็นแอพที่จับกลุ่มผู้ใช้จำนวนมหาศาล

“เท่าที่ผมรู้นี่น่าจะเป็นแพลตฟอร์มส่งข้อความอันเดียวที่พัฒนาโดยกลุ่มข่าวกรอง จึงแตกต่างอย่างมากในแง่ที่ว่า พวกเขาพยายามพัฒนาแอพนี้ที่ถูกออกแบบมาให้คนหลายล้านคนทั่วโลกใช้”

มาร์คแซคกล่าวด้วยว่า ยูเออีอาจกำลังใช้ตัวแบบของจีนควบคุมโลกดิจิทัล หวังเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี พร้อมๆ กับใช้สถานะดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการควบคุมและสอดแนม

“น่าสนใจมากว่าความล้มเหลวนี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนายูเออีเป็นมหาอำนาจเทคโนโลยีในอนาคตมากขนาดไหน ผู้คนอาจไม่ไว้ใจเทคโนโลยีที่มาจากยูเออีอีก” นักวิจัยให้ความเห็น

สำนักงานกำกับดูแลโทรคมนาคมยูเออียอมรับกับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลายคนกังวลเรื่องทูทอค

“กฎหมายโทรคมนาคมยูเออีห้ามดักฟัง ห้ามสอดแนมข้อมูลประชาชนไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม และใช้มาตรฐานปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคในระดับสูงสุด”

ในภูมิภาคที่เกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองบ่อยครั้ง ยูเออีให้คุณค่ากับเสถียรภาพไว้สูงมากและขจัดพวกลัทธิสุดโต่งออกไป แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า รัฐบาลยูเออีจับกุมฝ่ายตรงข้ามโดยพลการ รวมทั้งอาเหม็ด มันซูร์ นักสิทธิมนุษยชนมือรางวัล ถูกจำคุก 10 ปีเมื่อปี 2561 ฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

กฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม นัดชุมนุม ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการต่อต้านอิสลาม หรือส่งเสริมความคิดเป็นภัย เช่น รักร่วมเพศ อาจต้องโทษจำคุกและปรับ

ส่วนกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ก็รุนแรง ผู้ใดโพสต์เสียหายบนโซเชียลมีเดียมีโทษจำคุกหรือปรับ

เอมี สลิโปวิตส์ จากกลุ่มฟรีดอมเฮาส์ กล่าวว่า ยูเออีควบคุมและดูแลโลกออนไลน์เข้มงวดมาก ไม่ได้เสรีจริงเหมือนการจัดอันดับอินเทอร์เน็ตโลกที่มีรายงานประจำปีออกไป

“รัฐบาลยูเออีควรโปร่งใสมากกว่านี้ในแง่ของการควบคุมเนื้อหา และหยุดเล่นงานคนที่วิจารณ์รัฐบาลได้แล้ว”