'ไทยคม' ลอยแพปัญหาดาวเทียม

 'ไทยคม' ลอยแพปัญหาดาวเทียม

กสทช.ควันออกหู ขุด มติครม.สั่งแก้ปัญหาไทยคม 5 เสื่อมก่อนหมดสัมปทานให้ติดพาวเวอร์แบงก์

สั่งการดีอีเอสกำชับ แต่สุดท้ายกลับนิ่ง ทำไทยคมส่อจอดำ จนลูกค้าเกิดผลกระทบ กลับส่งหนังสือให้กสทช.ช่วย เปิดทาง เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติชั่วคราว เหตุ การลงทุนสูง ไม่คุ้มค่า

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงประเด็นที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ดศ. 0407/57 ลงวันที่ 7 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมาแจ้งขอให้ กสทช. พิจารณาการขออนุญาตจัดหาช่องสัญญาณต่างประเทศตามแผนบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 5 ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกในภาวะฉุกเฉินให้กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ว่า การดำเนินการของดีอีเอสรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่ทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เพราะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ลงมติไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 เห็นชอบเห็นหลักการให้ ไทยคม ดําเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อนพลังงาน หรือ พาวเวอร์ แบงค์ เพื่อต่ออายุดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างไทยคม และ กระทรวงดีอีเอส เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 5 จะหมดอายุการใช้งานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แต่สัญญาดําเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจะสิ้นสุดในปี 2564

ดังนั้นการที่กระทรวงดีอีเอส ปล่อยให้ไทยคมไม่ดำเนินการมติครม.จนล่วงเลยถึงเวลาที่ไทยคม 5 ใช้งานไม่ได้ และเดือดร้อนผู้บริโภค จนต้องมาขอให้คณะกรรมการกสทช.ลงมติ ออกหนังสือเพื่อให้ไทยคมสามารถใช้ช่องวงโคจรของต่างชาตินั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่ กสทช.เห็นว่าเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคจึงต้องออกหนังสือเพื่อให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่จริงแล้วกระทรวงดีอีเอสต้องเป็นผู้รับผิดชอบให้ผู้อยู่ภายใต้เงื่อนไขสัญญาสัมปทานดำเนินการตามมติครม.ซึ่งในมติดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า กระทรวงดีอีเอส ในฐานะคู่สัญญาตามสัญญาต้องดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามขั้นตอนของข้อกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวมองว่าการที่ ไทยคม ต้องลงทุนติดตั้งพาวเวอร์ แบงค์ ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 400 ล้านบาท จึงไม่คุ้มค่าหากต้องลงทุนต่ออีก 1 ปี จากนั้นต้องมอบทรัพย์สินให้กับกระทรวงดีอีเอสหลังหมดสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะไทยคมก็ยังคงเก็บรายได้จากลูกค้า การที่จะมาแก้ปัญหาด้วยการขอใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติก่อนที่กฎหมายเสรีดาวเทียมมีผลบังคับใช้โดยอ้างว่าเป็นภาวะฉุกเฉินไม่ได้

“มติ ครม.ออกมาเป็นปีแล้ว กระทรวงดีอีเอสต้องเป็นผู้กำกับดูแลให้ไทยคมบริหารจัดการให้ได้ ไม่ใช่มาขอให้กสทช.ช่วย ถามว่ากสทช.ช่วยได้หรือไม่ กสทช.ก็ต้องช่วยในส่วนที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่คนในกระทรวงดีอีเอส ต้องดูด้วยว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ และการที่มาขอใช้ดาวเทียมต่างชาติในภาวะฉุกเฉินก่อนที่กฎหมายเสรีดาวเทียมจะออก เกรงว่ารายอื่นจะมองเป็นความเหลื่อมล้ำหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วไทยคมจะต้องปฎิบัติตามกฎหมายก็ตาม”

ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ภายหลังที่มีมติครม.เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 กระทรวงก็ไม่กล้าตัดสินใจให้ไทยคมยิงพาวเวอร์ แบงก์ขึ้นสู่วงโคจร เพราะวิธีนี้เป็นวิธีใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครในโลกทำมาก่อน ขณะที่ไทยคมเองก็บอกว่าสามารถทำได้และจะดำเนินการในเดือน ส.ค. 2563 จนเวลาล่วงเลยมาเป็นปี ก็ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ภายใต้การทำงานของซึ่งเรื่องดังกล่าววอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส และทั้งนี้ หากสิ้นสุดสัมปทานเมื่อถึงเวลามอบทรัพย์สินไทยคม 5 ให้กับ กระทรวงดีอีเอส ไทยคมต้องดำเนินการให้ไทยคม 5 สามารถใช้งานได้ เพื่อกระทรวงจะได้ดำเนินการหาเอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ด้วย