ททท.ปรับกระบวนยุทธ์ปี 63 ฝ่าคลื่น 'Slowbalisation'

ททท.ปรับกระบวนยุทธ์ปี 63 ฝ่าคลื่น 'Slowbalisation'

“ททท.” ปรับกระบวนยุทธ์ฝ่าคลื่นท้าทาย-ความเสี่ยงจากทั้งในและต่างประเทศ จับตาภาวะ “Slowbalisation” การชะลอตัวของโลภาภิวัตน์กระเทือนรายได้ท่องเที่ยวไทยปี 63 รับมือทุกประเทศหันมาทำตลาดชิงนักท่องเที่ยว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ต้องปรับกระบวนยุทธ์การทำงานในปี2563รับมือกับความท้าทายและความเสี่ยงรอบด้านจากทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ (Slowbalisation) หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือIMFคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวแน่นอน เติบโตเพียง 3.4% จากเดิมคาดโต 3.5% ขณะที่ธนาคารโลกคาดว่าจะโตเพียง 2.7%

นอกจากนี้ประเทศที่ส่งออกนักท่องเที่ยวมาไทยจำนวนมากได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น จีน เดิมคาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีโต 6.1% ปรับเหลือ 5.8% ส่วนอินเดียเดิมคาดโต 7.5% เหลือ 7% สหภาพยุโรปเดิมคาดโต 1.5% เหลือ 1.4% ขณะที่รัสเซียปรับคาดการณ์จีดีพีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิมคาดโต 1.7% เพิ่มเป็น 1.9% และอังกฤษเดิมคาดโต 1.4% เพิ่มเป็น 1.9% สะท้อนชัดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ไม่สดใส

เป็นไปในทิศทางเดียวกับคาดการณ์ขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ชี้ว่าประเทศผู้นำการท่องเที่ยวโลกมีการเติบโตของภาคท่องเที่ยวค่อนข้างต่ำ หลังช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มียอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสเปนซึ่งเป็นจุดหมายหลักของยุโรปโตแค่ 1% ยอดเดินทางเข้าสหรัฐโต 1.6% อังกฤษติดลบ 0.2% ฮ่องกงติดลบ 5.8% ขณะที่ญี่ปุ่นเติบโตไม่หวือหวา 4% อินเดียโต 2.3% อินโดนีเซียโต 2.6% สิงคโปร์โต 2% ขณะที่สถิติเบื้องต้นตลอดปี 2562 ของไทย พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทย 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อน ถือว่าทำได้ดีกว่าภาพรวมอัตราการเติบโตเฉลี่ยของทั่วโลก

นอกเหนือจากภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์แล้ว ทุกประเทศยังหันมาแข่งขันชิงนักท่องเที่ยวทั่วโลก พร้อมออกมาตรการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะมาตรการวีซ่า อีกปัจจัยท้าทายคือการดิสรัปชั่น ไม่ใช่แค่จากเทคโนโลยี แต่จากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวตัดสินใจจองซื้อสินค้าท่องเที่ยวช้าลง ไม่นิยมกินที่ร้านอาหาร แต่นิยมสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี่มากขึ้น ขณะที่การเดินทาง พฤติกรรมเปลี่ยนจากนั่งรถบัสเดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ หันมาเดินทางด้วยตัวเองเป็นกรุ๊ปเล็กมากขึ้น ปริมาณรถตู้ในภาคท่องเที่ยวจึงขยายตัวดี

ขณะที่ปัญหาเชิงระบบที่สะสมมานานก็ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของท่องเที่ยวไทย เช่น อุบัติเหตุจากกิจกรรมท่องเที่ยวและการเดินทาง อาชญากรรม การเอารัดเอาเปรียบ สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ สนามบินแออัด รวมถึงปัญหาความเสื่อมโทรมและขยะในแหล่งท่องเที่ยว มลภาวะอย่าง PM 2.5ที่กำลังเผชิญในขณะนี้ และปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (Over Tourism)

นายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความเสี่ยงและความท้าทายทั้งหมด ททท.ต้องทำตัวให้พร้อมปลั๊กอินกับคนอื่นๆ ผ่านกลยุทธ์ร่วมมือกับพันธมิตร มุ่งสู่ Collaboration Marketing มากขึ้น เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้หารือกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)เพื่อแก้ปัญหาสะสม สร้างความยั่งยืนแก่ท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ยังหารือกับธุรกิจเจ้าของแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์(Online Travel Agent : OTA)และอื่นๆ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการโปรโมท

นอกจากนี้ ยังต้องช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยปรับตัวให้มีดิจิทัลมายด์เซ็ท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ทั้งจาก OTA และเชนโรงแรมรายใหญ่ที่ยังขยายธุรกิจในไทยต่อเนื่อง พร้อมทรานส์ฟอร์มสู่การแข่งขันบนสมรภูมิออนไลน์มากขึ้น โดย ททท.จะหารือและขอความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เพิ่มเติม

โดยททท.จะต้องเพิ่มบทบาทใหม่ เข้ามาเพิ่มคุณค่าห่วงโซ่การท่องเที่ยวมากขึ้นในปีนี้ เป็นแกนหลักในการตลาดที่จะดำเนินการควบคู่กับการผลักดันการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อดูแลผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันได้ ผ่านโครงการ “YOU” รายละเอียดคือ ททท.ต้องมีส่วนช่วยผู้ประกอบการเพิ่มผลตอบแทน(Yeild)ไม่ใช่แค่โปรโมทขายของอย่างเดียว เพราะถ้าผู้ประกอบการไทยขาดทุน ก็จะส่งผลให้ทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ พร้อมช่วยเอาชนะปัญหา (Overcome)ในหลายๆ มิติทั้งบนช่องทางออฟไลน์และออนไลน์