กะเทาะเทรนด์อีคอมเมิร์ซ 2020 ชิงโอกาสตลาด 'ล้านล้าน'

กะเทาะเทรนด์อีคอมเมิร์ซ 2020 ชิงโอกาสตลาด 'ล้านล้าน'

ถือเป็นที่ 2 ที่ ธนาคารกรุงเทพ จัดสัมมนาอัพเดทเทรนด์ธุรกิจการตลาดให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และบุคคลทั่วไปได้รับรู้ ซึ่งปี 2563 ชูหัวข้อ “E-Commerce Trends 2020” เพื่อไม่ให้พ่อค้าแม่ขายตกกระแส หาทางเตรียมตัวรับมือปัจจัยเสี่ยงที่รายล้อมธุรกิจ

ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด คือวิทยากรที่ถูกเชิญมาพูดเรื่องนี้ ฐานที่เป็นหนึ่งในกูรูคร่ำหวอดในวงการค้าขายออนไลน์ตลาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 3.1 ล้านล้านบาท ยังคงโตต่อเนื่อง โดยหมวดที่มาแรงคือ ธุรกิจอาหาร” หลังจากนักคิดหัวใสเก่งเทคโนโลยีพัฒนา “คลาวด์คิทเช่น” หรือการบริหารครัวกลางสำเร็จ ยกแพลตฟอร์มไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วไทย การส่ง “พ่อ-แม่ครัว” ฝีมือขั้นเทพไปปรุง อาหารจานเด็ดจากร้านดังจะถูกเสิร์ฟถึงผู้บริโภคทั่วไทย

158026438745

**ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ **

“ธุรกิจอาหารจะขยายเร็วมาก หากระบบแข็งแรงพอ ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางยังโตเช่นกัน”

ขณะที่ 12 เทรนด์อีคอมเมิร์ซในไทยที่ร้อนแรงปี 2563 ภาวุธ ชำแหละดังนี้

1.ปีที่เริ่มทำรายได้ของ JSL (JD-Shopee-Lazada) Marketplace เป็นปีของ “ยักษ์ใหญ่” ทั้ง เจดี เซ็นทรัล, ช้อปปี้ และลาซาด้า จะทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช่แค่จากการขายสินค้า แต่กลไกการหารายได้มาจากค่าบริการต่างๆ จากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ทำให้ต้นทุนเพิ่ม เช่น ค่าโฆษณา ค่าคอมมิชชั่น จากที่ผ่านมาค่ายเหล่านี้ “เผาเงิน” เพื่อดึงทราฟฟิก จ้างพรีเซ็นเตอร์ระดับโลก หวังปรับพฤติกรรมคนไทยให้คุ้นเคยชอปปิงออนไลน์ จนขาดทุนกันหลายพันล้านบาทต่อปี

2.สงคราม E-Wallet แข่งกันดึงเงินลงกระเป๋า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โอนเงินออนไลน์มากถึง 473 ล้านรายการ จากหลายกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากทั้งผู้เล่นอีวอลเล็ทเอง ฝั่งอีคอมเมิร์ซ แบงก์ทุกรายที่รักษาอาณาเขตธุรกิจ และโมบาย วอลเล็ท เช่น ซัมซุงเพย์ อนาคตการแข่งจะดุเดือดขึ้นอีก

มองเกมนี้ธนาคารคือผู้ชนะ เพราะจะจับมือกับพันธมิตรทำให้แอพพลิเคชั่นแข็งแรง อัพเป็น Super App บริการได้มากกว่าจ่ายเงิน ศึกนี้ยิ่งใหญ่ เพราะใครที่ชนะ จะได้ข้อมูลการจ่ายเงินของลูกค้า Wallet คือหัวใจของธุรกิจ” อย่างไรก็ตามแบงก์ประมาทเกมนี้ไม่ได้ เพราะผู้เล่นแต่ละรายกำเงิน หมื่นล้าน” พร้อมทุบ!!คู่แข่ง

3.สงคราม บริษัทขนส่งสินค้า(E-Logistic) เมื่อช้อปออนไลน์โต การส่งสินค้าก็ตามมา ทำให้แต่ละรายพัฒนาการส่งให้มีประสิทธิภาพ เร็วขึ้น ผู้เล่น “รายใหญ่” ลุยหนัก ทั้งไปรษณีย์ไทย แต่ลาซาด้า แบรนด์อื่นๆก็ขอระเบิดสงครามด้วย

4.บริการเก็บ-แพ็ค-ส่งสินค้า(Fulfillment)จะเติบโต แต่ละวันการส่งสินค้ามีมหาศาล ทำให้การเก็บ แพ็ค ส่งสินค้าเป็น “ขุมทรัพย์” ใหม่ของผู้เชี่ยวชาญตลาด จุดนี้เอสเอ็มอีต้องตระหนักให้มาก หากจะค้าขายควรโฟกัสการทำตลาดและยอดขายที่โต อาจเลือกเอาท์ซอร์สส่วนนี้ให้ผู้อื่นทำแทน

5.Brand กระโดดเข้าสู่ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เมื่อออนไลน์โตและเป็นช่องทางที่ขาดไม่ได้ “แบรนด์” ต่างๆ จึงหันมาปั้นแพลตฟอร์มของตัวเอง เพราะหากไม่ทำ “คู่แข่ง” ก็ทำ จนดูเป็น Conflict Channel ทำให้ ตัวกลาง หรือดีลเลอร์ ตัวแทนจำหน่ายจะหายไป เพราะแบรนด์ขายสินค้า ถึงผู้บริโภคโดยตรง จะราคาต่ำ 30-40%

“นี่เป็นการตัดตอนพ่อค้าคนกลางออกไป ไม่ต้องใช้ช่องทางเดิมๆ ยี่ปั๊วซาปั๊ว”

6.การค้าข้ามประเทศ Cross Border เติบโตก้าวกระโดด การค้าข้ามประเทศมี 2 มิติ ในมุมสินค้าเข้าไทยมีการเติบโตมหาศาล โดยเฉพาะ สินค้าจีน” ทะลัก ปี 2562 มากถึง 175 ล้านชิ้น เพิ่มจากเดิมมี 60 ล้านชิ้น จากผู้ขาย 8.1 หมื่นราย เทียบไทยสินค้าขาย 39 ล้านชิ้น จาก 20 ล้านชิ้น ผู้ขาย 1 ล้านราย ที่น่าสนใจคือ ราคา” สินค้าจีนขายเฉลี่ย 350 บาท ของไทยเฉลี่ย 738 บาท ต่างกัน 53% สะท้อนภาพจีนขนสินค้ามาเป็น กองทัพ” ในราคาต่ำเพื่อดึงเงินผู้บริโภคชาวไทย เอสเอ็มอี” จะสู้อย่างไรต้องขบคิด

คีย์แฟ็คเตอร์ที่ทำให้ค้าออนไลน์ชนะ คือจำนวนรายการสินค้า(SKU) ถ้าร้านไหนมีสินค้า 10 ชิ้น กับ 1,000 ชิ้น อันไหนมีโอกาสดึงเงินในกระเป๋าผู้บริโภค สินค้ายิ่งมากน่าจะต้องโดนสักตัว” อย่างไรก็ตาม การส่งสินค้าบุกต่างแดน ไทยควรเร่งศึกษาตลาด กลุ่มเป้าหมาย แพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Amazon eBay Thailandseller Rakuten เป็นต้น ที่สำคัญ แบรนด์” และเครื่องหมายการค้าต่างๆต้องรีบจดสิทธิบัตร เพราะขณะนี้จีนคืบคลานมามองหาแบรนด์ดังของไทยที่ละเลยการจดสิทธิบัตรเพื่อจดเป็นของตัวเองจำนวนมาก

7.Social Commerce โตทะลุ พร้อมโฆษณาทาง Social Ads โซเชียลคอมเมิร์ซยังโต และพ่อค้าแม่ค้าชอบ “Live” ขายสินค้ามากขึ้น หน้าเก่าต้องหาทางฉีกการขายแบบเดิมๆ เพราะยอดขายอาจตก หน้าใหม่กำลังเข้ามา

8.Live & Conversational Commerce การค้าแบบไลฟ์สด+Chat การ Live ขายสินค้ามีบทบาทมากขึ้น เพราะได้สื่อสาร เอ็นเกจกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง อีกทั้งสามารถบอกโปรโมชั่น ปิดการขายได้ทันที ขณะนี้แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ลงมาเล่นตลาดนี้ด้วย เช่น Shopee Live

9.ข้อมูล E-Commerce นำไปสู่ธุรกิจอื่นๆอีกมากมาย เพราะการขายออนไลน์มีข้อมูลมากมายเกิดขึ้น หรือ Big data ผู้บริโภคเป็นใคร ซื้อสินค้าเมื่อไหร่ อย่างไร สามารถต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น รวมถึงช่วยให้บริหารจัดการงานเร็วขึ้น

10.ยุครุ่งโรจน์ของ E-Commerce เฉพาะทาง (Vertical E-Commerce) ปีนี้จะมีอีคอมเมิร์ซเฉพาะทางใหม่ๆ บุกไทยมากขึ้น เช่น YouPik moomall เป็นต้น

11.Omni Channel ทุกช่องทางประสานด้วยกัน ผู้บริโภคอยู่ไหน แบรนด์ต้องมีสินค้าเสิร์ฟทุกช่องทาง และออมนิชาเนล ตอบโจทย์ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่นมีทั้งแคตตาล็อก ขายออนไลน์ 24shopping หน้าร้าน ครบทั้งออนไลน์ ออนแอร์ ออนฮับ

12.กฎหมายด้านดิจิทัลที่มาครบชุด สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าออนไลน์ต้องรู้ เพื่อจ่ายภาษีให้ถูกต้อง และทำธุรกิจได้อย่างราบรื่นไม่กระทบสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพรบ.ภาษีอีเพย์เมนต์ พรบ.ภาษี E-Business(อยู่ระหว่างดำเนินการ) พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น