'ไวรัสโคโรน่า' ทุบท่องเที่ยว เสี่ยงซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย 1%

'ไวรัสโคโรน่า' ทุบท่องเที่ยว เสี่ยงซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย 1%

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดทางการจีนสั่งปิดเมืองแล้วจำนวนมาก พร้อมออกคำสั่งห้ามบริษัทนำเที่ยวทั่วประเทศหยุดดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งหยุดการขายผลิตภัณฑ์ตั๋วเครื่องบินและโรงแรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว 

ด้าน นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุยังต้องติดตามพัฒนาการการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่องว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แต่หากดูสถิติการแพร่ระบาดของไวรัสในลักษณะที่คล้ายกันนี้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์สเมื่อปี 2546 และ โรคเมอร์สเมื่อปี 2556 พบว่า กระทบต่อการท่องเที่ยวไทยราว 6-7%

โดยการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีดังกล่าวลดลงราว 7.4% หรือลดจาก 10.8 ล้านคนในปี 2545 เหลือ 10 ล้านคนในปี 2546 ส่วนการแพร่ระบาดของโรคเมอร์สในปี 2556 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 6.5% หรือลดจาก 26.5 ล้านคนในปี 2555 เหลือ 24.8 ล้านคนในปี 2556

“เราไม่รู้ว่าพัฒนาการของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่ถ้าอนุมานจากสถิติในอดีตที่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวราว 6-7% เหตุการณ์ในครั้งนี้อาจทำให้นักท่องเที่ยวหายไปได้ราว 2.7 ล้านคน จากตัวเลขนักท่องเที่ยวรวมเมื่อปี 2562 ที่ 39 ล้านคน”

“นริศ”บอกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว 39 ล้านคนในปี2562 มีมูลค่าการใช้จ่ายรวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท หากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หายไป 2.7 ล้านคน คงทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เกือบๆ 1% ดังนั้นผลกระทบโดยรวมจึงค่อนข้างสูง หากสถานการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรง

“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทย พบว่า 60% เป็นการเดินทางมาเที่ยวด้วยตัวเอง ส่วนอีก 40% ท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ การที่รัฐบาลจีนสั่งบริษัททัวร์หยุดการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ อาจส่งผลต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยลดลงไปราวๆ 50% ดังนั้นผลกระทบต่อรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวไทยคงลดลง

ปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ราว 10% กว่าๆ ในกรณีเลวร้ายสุด คือ สถานการณ์รุนแรงต่อเนื่องจนถึงกลางปี อาจทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปราว 10% หรือ 1 แสนล้านบาท

“วันนี้ยังยากที่จะประเมินผลกระทบจากไวรัสโคโรนาว่าจะรุนแรงแค่ไหน เพราะยังไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวจะหายไปเท่าไร ซึ่งปกตินักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในช่วงไฮซีซัน (ม.ค.-ก.พ.) ที่เป็นช่วงตรุษจีน อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือน หากหายไปครึ่งหนึ่งผ่านบริษัททัวร์ผลกระทบก็ถือว่ามีมากพอสมควร”

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2563 ไว้ 2 กรณี คือ โดยกรณีที่ 1 การระบาดของเชื้อไวรัสในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือนภายใต้สถานการณ์ที่ทางการจีนสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการที่ทางการจีนได้ให้ความสำคัญโดยมีการออกมาตรการขั้นสูงเพื่อควบคุมและหยุดการแพร่ระบาดของโรค กอปรกับไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ

กรณีที่ 1 นี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะสั้น ในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ในเบื้องต้นอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะจากเมืองอู่ฮั่น แต่ไม่ส่งผลกระทบถึงภาพรวมของตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยและการเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่เป็นตลาดเป้าหมายของไทยศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบเป้าหมายเดิม โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยจะมีประมาณ 11.10-11.30 ล้านคน ซึ่งกรอบล่างของประมาณการน่าจะสามารถรองรับได้

กรณีที่ 2 การระบาดของเชื้อไวรัสขยายระยะเวลาเป็นประมาณ 1-3 เดือนภายใต้สถานการณ์ที่ทางการจีนอาจต้องใช้ระยะเวลาในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศจีนที่นานขึ้น ซึ่งจะเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย แม้กรณีนี้จะยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ

แต่เนื่องด้วยเมื่อระยะเวลาของการแพร่ระบาดของโรคยาวนานขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนและสะท้อนกลับมายังกำลังซื้อของประชาชนชาวจีนในประเทศรวมถึงอาจจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศและความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน 

158010219515

นอกจากนี้ ประชาชนชาวจีนบางส่วนอาจมีการปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัยหรือไม่มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยภายใต้กรณีดังกล่าวศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2563 อาจลดลงเหลือประมาณ 10.94-10.77 ล้านคน หรือหดตัวประมาณ 0.5%-2.0%

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การประเมินสถานการณ์ของโรคเชื้อไวรัสn-CoV ทั้ง 2 กรณีนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการท่องเที่ยวในแต่ละกรณีซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องจะได้สามารถวางแผนการทำธุรกิจและปรับตัวรองรับกับกรณีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

  • จับตาเชื้ออู่ฮั่นฉุด‘บาทอ่อน’

“จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคงส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย ปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อพื้นฐานสกุลเงินเอเชียที่น่าจะอ่อนลง ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทไทยด้วย

ระยะถัดไปคงต้องติดตามการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์เป็นหลัก เพราะน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรในตลาดเงิน โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองในสหรัฐ ซึ่งในช่วงใกล้หยั่งเสียงเลือกตั้งที่รัฐไอโอวาช่วงต้นเดือนก.พ. หากถ้าภาพผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐมีความชัดเจนมากขึ้น โดยหากนายเบอร์นี่ แซนเดอร์ ส.ว.รัฐเวอร์มอนต์ แซงหน้าอดีตรองประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ขึ้นมาได้ อาจเห็นเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าซึ่งจะทำให้สกุลเงินอื่นๆ แข็งค่าขึ้น โดยสัปดาห์นี้ให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ที่ 30.30-30.80 บาทต่อดอลลาร์

ด้าน “นริศ” ประเมินว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท เนื่องจากสัดส่วนรายได้ของนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็น 20% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ดังนั้นหากสถานการณ์ไม่เลวร้ายไปกว่าเมื่อสมัยการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส เชื่อว่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อย แต่คงไม่อ่อนค่าจนทะลุระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์

“รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 23% ของดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าเม็ดเงินส่วนนี้คงหายไปประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับเดียวกับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลออกไปเมื่อปีก่อนที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไปคงมีผลต่อค่าเงินบ้างแต่คงไม่ทำให้อ่อนค่าลงมากนัก”