ดีมานด์เชื้อเพลิงชีวภาพพุ่ง-หนุนราคาน้ำตาลตลาดโลก สูงสุดรอบ 2 ปี

ดีมานด์เชื้อเพลิงชีวภาพพุ่ง-หนุนราคาน้ำตาลตลาดโลก สูงสุดรอบ 2 ปี

ดีมานด์เชื้อเพลิงชีวภาพพุ่ง-หนุนราคาน้ำตาลตลาดโลกสูงสุดรอบ2ปี และคาดว่าผลผลิตน้ำตาลของไทยจะลดลง 19.8% มาอยู่ที่ 12.39 ล้านตัน เช่นเดียวกับในจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุดอันดับที่ 5

ราคาน้ำตาลในตลาดโลกทะยานสูงสุดในรอบ2ปี ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลในปีนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในอินเดียและไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก

นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลยังได้แรงหนุนจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่ไม่เพียงแต่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานขึ้นแต่ยังทำให้บรรดาโรงงานผลิตเอธานอลหันมาเพิ่มกำลังการผลิตเอธานอลจากอ้อยกันมากขึ้นเพื่อให้ทันกับความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำตาลดิบตลาดล่วงหน้าที่นิวยอร์ก ปรับตัวขึ้นเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 14 เซนต์ต่อปอนด์(ประมาณ453 กรัม) เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากช่วงกลางเดือนก.ย.และแตะระดับสูงสุด นับตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2561 ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำตาลดิบในตลาดล่วงหน้าถือเป็นข่าวดีของบรรดาผู้ผลิตน้ำตาลในญี่ปุ่น

158001264746

อย่างไรก็ตาม สหกรณ์อุตสาหกรรมปศุสัตว์และการเกษตรของญี่ปุ่น คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้วว่า ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกในช่วง 12 เดือน นับจนถึงเดือนก.ย.ปี2563 จะร่วงลง 4.2% จากฤดูกาลก่อนหน้านี้มาอยู่ที่ 179.25 ล้านตัน ส่วนการบริโภคจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% เป็น 185.54 ล้านตัน แต่ปริมาณการผลิตน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลงมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในไทยและอินเดีย จนทำให้ผลผลิตน้ำตาลไม่ได้ตามเป้า

“ในศูนย์กลางการผลิตน้ำตาลทางตอนเหนือ ในฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้ผลผลิตอ้อยอยู่ในปริมาณที่ต่ำ ”ผู้บริหารบริษัทผลิตน้ำตาลรายหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อ กล่าวพร้อมยกตัวอย่าง กรณีของอินเดีย ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ2ของโลก มีผลผลิตอ้อยในภาคตะวันตกของประเทศต่ำเพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเมื่อปี 2561 และเจอปัญหาฝนตกในปริมาณมากเกินไปจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูร้อนของปี 2562 จึงคาดว่าผลผลิตน้ำตาลของอินเดียในปีนี้จนถึงเดือนก.ย.จะร่วงลงไป 17.8% เป็น 29.33 ล้านตัน

ขณะที่ไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุดอันดับ4ของโลก ผลผลิตอ้อยได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศแล้งจัดผิดปกติในภาคกลางของประเทศ และเกิดฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงคาดว่าผลผลิตน้ำตาลของไทยจะปรับตัวลง 19.8% มาอยู่ที่ 12.39 ล้านตัน เช่นเดียวกับในจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุดอันดับที่ 5 ผลผลิตน้ำตาลจะปรับตัวลดลง 5.2% เหลือ 11.03 ล้านตัน

ที่สำคัญคือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะสร้างแรงกดดันแก่ตลาดน้ำตาล ความกลัวของนักลงทุนที่ว่าสหรัฐและอิหร่านจะขัดแย้งกันมากกว่าที่เป็นอยู่เป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ ปิดตลาดวันที่ 3 ม.ค. ปรับตัวขึ้น 1.87 ดอลลาร์หรือ 3% สู่ระดับ 63.05ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากในช่วงแรกของการซื้อขาย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสพุ่งแตะ64.09 ดอลลาร์/บาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้น 2.42 ดอลลาร์ หรือ 3.6% แตะ 68.67 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันเดียวกัน หลังจากเปิดซื้อขายช่วงแรก ราคาทะยานสูงถึง 69.50 ดอลลาร์/บาร์เรล

‘สึโตมุ โคสุเกะ’ หัวหน้ามาร์เก็ตเอดจ์ บริษัทวิจัยตลาดการเงินและโภคภัณฑ์ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็นว่า การที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าความต้องการอ้อยจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเพราะอ้อยถูกนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลลดลง

"ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากอยู่ในช่วงขาลงมาตลอด2-3ปีที่ผ่านมา แต่เรายังรู้สึกว่าราคาสูงเกินจริงไปนิดหน่อย แต่ราคาน้ำตาลไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้ เนื่องจากสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงหลังจากผลผลิตอยู่ในภาวะล้นตลาดมาสองปี คาดว่าสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 39.7% ของปริมาณการบริโภคในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลปี2562-2563 สูงจากระดับที่เหมาะสมประมาณ 30-35%

158001263019

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลดิบอย่างมาก ราคาน้ำตาลเบนช์มาร์คในญี่ปุ่นถูกกำหนดโดยหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งนำเข้าน้ำตาลจากบรรดาผู้ประกอบการที่ราคาน้ำเข้าโดยเฉลี่ย จากนั้นก็ขายกลับคืนไปยังบริษัทต่างๆในราคาที่สูงภายใต้ระบบที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศจากการแข่งขันกับบรรดาคู่แข่งในตลาดโลก ซึ่งราคาน้ำตาลเบนช์มาร์คที่ว่านี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี2563 ปรับตัวขึ้นจากช่วง3เดือนก่อนหน้านี้ เพราะราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาค้าส่งยังไงไม่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ราคาน้ำตาลหลักช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.ร่วงลงเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้านี้

หากราคาน้ำตาลดิบยังคงอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ราคาน้ำตาลเบนช์มาร์คในญี่ปุ่นในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.จะปรับตัวขึ้นประมาณ 3,000 เยน (27 ดอลลาร์)ต่อตัน และอาจจะส่งผลให้ราคาค้าส่งน้ำตาลปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

158001263960

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ตลาดโลกจะได้เห็นปริมาณน่้ำตาลขาดแคลนในฤดูกาลปี2562-2563 เป็นครั้งแรกในรอบ 3ปี หลังจากตลาดโลกอยู่ในภาวะน้ำตาลล้นตลาดมาสองสามปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการน้ำตาลของชาติอุตสาหกรรมใหญ่ๆลดลง ทำให้ราคาน้ำตาลปรับตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าว

แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเอเชียและแอฟริกาจะกระตุ้นให้การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า การบริโภคน้ำตาลในเอเชียในช่วงปี 2562-2563 จะขยายตัวขึ้น 1% จากปีก่อนหน้านี้ เป็น 88.25 ล้านตัน โดยผู้บริโภคในอินเดียและอินโดนีเซียจะบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้น