โพลชี้ ปชช.กว่า 40% เห็นควร อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 'ทั้งคณะ'

โพลชี้ ปชช.กว่า 40% เห็นควร อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 'ทั้งคณะ'

ผลสำรวจ "นิด้าโพล"​ ระบุ ประชาชน 42.57% ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทั้งคณะ (ทั้งคณะรัฐมนตรี)

วันนี้ (26 ม.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 – 23 มกราคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
  
  • ความคิดเห็นของประชาชนต่อสิ่งที่ฝ่ายค้านควรกระทำเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

จากการสำรวจเมื่อถามถึง ความคิดเห็นของประชาชนต่อสิ่งที่ฝ่ายค้านควรกระทำเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า

ร้อยละ 42.57 ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทั้งคณะ (ทั้งคณะรัฐมนตรี)

รองลงมา ร้อยละ 35.54 ระบุว่า ควรขอเปิดอภิปราย ไม่ไว้วางใจรัฐบาล รายบุคคล (เฉพาะรัฐมนตรีบางคน)

ร้อยละ 13.82 ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ร้อยละ 5.35 ระบุว่า ไม่ควรขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเลย

และร้อยละ 2.72 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

  • ความคิดเห็นเกี่ยวกับ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อข้อมูลเด็ดของฝ่ายค้านที่จะมัดคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนดิ้นไม่หลุด

ด้าน ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อข้อมูลเด็ดของฝ่ายค้านที่จะมัดคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนดิ้นไม่หลุด พบว่า

ร้อยละ 20.76 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะ ฝ่ายค้านน่าจะมีข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนพอสมควรต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่บางส่วนระบุว่า มีความมั่นใจในการทำงานของฝ่ายค้าน และมองว่าการทำงานของฝ่ายรัฐบาลตลอด 5 เดือนที่ผ่านมายังไม่เป็นรูปธรรม

ร้อยละ 32.99 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะ ฝ่ายค้านน่าจะมีข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากพอสมควร ขณะที่บางส่วนระบุว่า การทำงานของฝ่ายรัฐบาลยังไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ร้อยละ 28.51 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะ เรื่องที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายยังถือเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่านโยบาย และหลักฐานยังไม่ชัดเจนพอ ขณะที่บางส่วนระบุว่า มองเป็นเกมการเมืองและเหมือนการกลั่นแกล้งกันมากกว่า

ร้อยละ 15.26 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะฝ่ายค้านยังไม่มีข้อมูลหรือประเด็นอะไรที่ทำให้รัฐบาลเสียหาย มองเป็นแค่เกมการเมืองเท่านั้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้รัฐบาลทำงานให้มากกว่านี้ก่อนถึงค่อยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

และร้อยละ 2.48 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

  • ความคิดเห็นต่อกระแสข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อตกลงพิเศษกับพรรครัฐบาลในการตัดชื่อรัฐมนตรีบางรายออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ท้ายที่สุด ความเชื่อของประชาชนต่อกระแสข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อตกลงพิเศษกับพรรครัฐบาลในการตัดชื่อรัฐมนตรีบางรายออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า

ร้อยละ 5.35 ระบุว่าเชื่อมาก เพราะ จากประวัติการทำงานของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง คณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย น่าจะมีข้อตกลงพิเศษกับทางพรรครัฐบาลจริง

ร้อยละ 16.85 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะ เป็นเกมการเมืองอย่างหนึ่งสามารถพลิกสถานการณ์ได้ตลอดเวลา และมี ส.ส. จำนวนหนึ่งจากพรรคเพื่อไทยเข้าอยู่ร่วมกับรัฐบาล

ร้อยละ 32.91 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะ จุดยืนของทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างกันอย่างชัดเจน เป็นไปไม่ได้ที่จะมีข้อตกลงพิเศษร่วมกัน และเป็นเพียงเกม การเมืองเท่านั้น

ร้อยละ 33.79 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะ จุดยืนของพรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนอยู่แล้วในการที่จะไม่สนับสนุนรัฐบาล และอาจเป็นเฟคนิวส์เพื่อเป็นการสร้างกระแสข่าวเท่านั้น

และร้อยละ 11.10 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.79 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.56 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.61 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.46 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.58 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.76 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.24 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 7.11 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 14.14 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.00 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 36.34 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 21.41 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.05 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.11 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.96 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.00 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.00 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.04 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.96 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 26.36 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.87 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.11 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.71 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.43 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 12.86 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.30 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.92ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.46 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.34 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.13 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.31 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 16.37 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.73 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.92 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.70 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.07 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.31 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.90 ไม่ระบุรายได้