พีเอ็ม 2.5 กับรถยนต์

จริงหรือ? "รถยนต์" เป็นต้นเหตุในการก่อมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง PM2.5 ที่หลายคนกล่าวหาว่าสาเหตุมาจากจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่มากเกินความจำเป็น และบางคนบอกว่าเป็นเพราะรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยควันดำออกมา

และแล้วประเทศไทยก็มาถึงเวลาที่ตามล่าหาแพะ เพื่อมารับบาปเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่าพีเอ็ม 2.5 ซึ่งกำลังฮือฮากันจ้าละหวั่นเวลานี้ แน่นอนว่าแพะตัวแรก ที่ต้องถูกลากขึ้นแท่นบูชายัญคือรถยนต์ เพราะมีแต่คนกล่าวหาว่าจำนวนรถยนต์บนท้องถนนมันมากเกินความจำเป็น บ้างก็ว่ามีรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลจำนวนมากที่ปล่อยควันดำออกมาคลุ้งไปหมด จนถึงขั้นฟันธงลงไปเลย (โดยใครก็ไม่รู้) ว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลคือตัวร้าย และมีการออกข่าวว่าจะมีมาตรการห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลสลับวันกันวิ่ง เช่น ห้ามวิ่งวันคี่ แต่ให้วิ่งวันคู่ เป็นต้น

ผมออกตัวก่อนว่าไม่ได้แก้ตัวแทนรถยนต์ทั้งหลาย ผมยอมรับว่ารถยนต์ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดมลพิษและฝุ่นละออง แต่มาตรการพื้นฐานที่รัฐมีอยู่ทุกวันนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการยับยั้ง หรือควบคุมได้ในระดับที่น่าพอใจ หากว่ามีการบังคับใช้กันอย่างเคร่งครัด, จริงจังและสม่ำเสมอ เพราะมาตรฐานไอเสียที่เรากำหนดเอามาตรฐานระดับ 4 หรือยูโรโฟร์ เป็นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเข้มงวดกว่าทุกประเทศในย่านอาเซียน และเป็นมาตรฐานระดับสูงมากเมื่อเทียบกับอีกหลายๆประเทศในโลกนี้

นอกจากนั้นเรายังกำหนดให้ตรวจสอบมาตรฐานเครื่องยนต์ หรือเรียกกันว่าตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี โดยหัวข้อที่ต้องตรวจสอบนั้น มีข้อกำหนดเรื่องของมลพิษและควันดำจากไอเสียรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังมีการตั้งด่านตรวจวัดควัน, เสียงและมลพิษจากไอเสียตามถนนต่างๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานตามที่กฎหมาย ได้ตราข้อกำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด เราก็แทบจะไม่เหลือรถยนต์ดีเซลที่มีควันดำและมีมลพิษจากไอเสียเกินมาตรฐานที่กำหนดอยู่บนท้องถนนเลย

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมไปถึงฝ่ายกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้ผู้จำหน่ายน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องจำหน่ายน้ำมันตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนดเอาไว้ด้วย อีกทั้งยังนำเอาไบโอดีเซลและเอธานอลมาผสมลงไปในน้ำมัน โดยหนึ่งในหลายๆ เหตุผลระบุเอาไว้ชัดเจนว่า เพื่อช่วยลดมลพิษจากไอเสียของเครื่องยนต์ ซึ่งหากเป็นไปตามที่กระทรวงฯ บอกไว้ รถยนต์ที่ผ่านการตรวจในกระบวนการผลิตจากกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านการตรวจ เพื่อนำมาใช้จากกระทรวงคมนาคมและผ่านการตรวจจากด่านบนท้องถนน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงคมนาคม ก็ไม่น่าจะเป็นตัวการสร้างพีเอ็ม 2.5 ได้เลย

แต่สิ่งที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันคือ รถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ที่วิ่งภายในกรุงเทพฯ หรือรถยนต์ของ ขสมก. และร่วมบริการทั้งหลายกลับกลายเป็นผู้ก่อให้เกิดควันดำและมลพิษขึ้นมาอย่างชัดเจน ทั้งที่ ขสมก. คือหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐอย่างเคร่งครัด กลับหย่อนยานในการกำกับดูแล อีกทั้งต้องเข้มงวดกวดขันรถร่วมบริการให้ต้องอยู่ใต้มาตรการเดียวกันด้วย แต่ทั้งหมดหาได้เป็นเช่นนั้นไม่แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับจะมาสั่งการให้รถบรรทุกของเอกชน ที่เขาสามารถทำเครื่องยนต์ให้ถูกต้องตามกติกาหยุดวิ่งทำมาหากินเลี้ยงชีพทั้งที่ไม่มีความผิดอะไรเลย

ทั้งนี้พึงต้องระวังเอาไว้ด้วยว่า การจะออกข้อกำหนดหรือมาตรการใดๆ ต้องไม่เป็นการกระทำที่เข้าข่าย "เตะหมูเข้าปากหมา" เพราะเริ่มจะมีเสียงเรียกร้อง ให้รถยนต์สาธารณะ เช่น รถ ขสมก. หันมาใช้รถยนต์โดยสารหรือรถบัสที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะเห็นว่าไม่เป็นตัวสร้างมลพิษ โดยลืมไปว่ามลพิษที่พูดถึงกันนั้น เราไม่ได้พูดถึงแต่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพ แต่เราพูดถึงทั้งประเทศ

ดังนั้นการที่มีรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของหน่วยงานใดก็ตาม ย่อมหมายถึงต้องการผลิตแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้นด้วย มีการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะผลิตจากพลังน้ำด้วย การสร้างเขื่อนหรือผลิตจากถ่านหินหรือก๊าซหรือนิวเคลียร์ก็ตาม ย่อมหมายความว่า มีการสร้างมลพิษในอากาศเช่นกัน เพียงแต่ย้ายกลุ่มมลพิษในอากาศจากบนท้องถนนในเมืองใหญ่ออกไปอยู่ยังพื้นที่ผลิตแบตเตอรี่และกระแสไฟฟ้าเท่านั้นเอง

และที่สุดของที่สุดต้องไม่ลืมว่า ขสมก. เคยมีปัญหาเรื่องการประมูลซื้อรถยนต์โดยสารพลังงานไฟฟ้าคาอยู่ เป็นการค้างคาที่ยังเป็นข้อกังขาของสังคม และคนที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการบริหารจัดการเรื่องของการอัดประจุไฟฟ้าและการบริการเมื่อรถขัดข้องหรือพลังงานไฟฟ้าหมดกลางทางขึ้นมา จะมีมาตรการรองรับหรือมีวิธีการแก้ไขอย่างไร คำถามทั้งหมดยังไม่เคยมีคำตอบออกมาในที่สาธารณะให้สังคมได้รับรู้แม้แต่น้อย

การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่สิ่งสำคัญประการแรกก็คือ ต้องหาให้ได้ก่อนว่าปัญหาเกิดขึ้นจากเหตุใด และตรงไหนจึงจะเลือกวิธีการแก้ปัญหาได้ตรง หากเดาสุ่มกันมั่วๆ การแก้ปัญหาก็จะทำได้เพียงแค่ออกข่าวฮือฮาเป็นคราวๆ ไปเท่านั้น หรือจะบอกว่า เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ไม่จบสิ้นลงไปก็ได

ในส่วนของคนใช้รถยนต์ทุกคนนั้น สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง ก็คือหมั่นทำความสะอาดไส้กรองอากาศ ด้วยการถอดออกมาเคาะหรือเป่าด้วยลมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามระยะทางที่กำหนด เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา และไม่ติดเครื่องยนต์ฟรีไว้ โดยเฉพาะในสถานที่อับทึบปราศจากกระแสลมพัดครับ