ทุนจีน สนสมาร์ทซิตี้ 'ฉะเชิงเทรา' สกพอ.เร่งคลอดทีโออาร์ประมูล

ทุนจีน สนสมาร์ทซิตี้ 'ฉะเชิงเทรา' สกพอ.เร่งคลอดทีโออาร์ประมูล

บริษัทจีน แสดงความสนใจลงทุนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ “ฉะเชิงเทรา” ในขณะที่ สกพอ.เร่งออกทีโออาร์เพื่อประมูลให้เอกชนมาร่วมลงทุน

แผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำหนดพื้นที่ชุมชนเมือง 5.18 แสนไร่ รองรับการอยู่อาศัยบริเวณเขตเมืองริมชายฝั่งทะเลต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรม ศูนย์กลางเมืองหลักระดับจังหวัด-อำเภอ และเขตให้บริการของขนส่งมวลชน ได้แก่ 

พื้นที่ต่อเนื่องจากศูนย์กลางพาณิชยกรรม บริเวณด้านในถนนมอเตอร์เวย์ เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เทศบาลเมืองพนมสารคาม เทศบาลเมืองพนมสารคาม เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลนครระยองและพื้นที่โดยรอบกลุ่มเทศบาลเมืองต่างๆ

รวมทั้งกำหนดพื้นที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรม 96,795 ไร่ ใช้เป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลัก เพื่อส่งเสริมศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ นันทนาการและการท่องเที่ยวระดับประเทศ ภาค และนานาชาติ 6 เมือง คือ เมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี เมืองศรีราชา-แหลมฉบัง เมืองพัทยา เมืองอู่ตะเภา เมืองระยอง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเตรียมเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ด้วย

และจะมีพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง 4.63 แสนไร่ เพื่อรองรับการขยายตัวของการอยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีบริเวณชานเมือง เป็นพื้นที่ต่อเนื่องชุมชนเมือง ได้แก่ พื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบศูนย์กลางหลักระดับอำเภอ และระดับเทศบาลตำบลต่างๆ

157996347342

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ของอีอีซีใน จ.ฉะเชิงเทรา ตามแนวนโยบายของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการศึกษาและใกล้จะแล้วเสร็จ โดยระหว่างนี้จะจัดทำร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) ของโครงการควบคู่ไปกับการศึกษาโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลลงทุนในโครงการนี้ 

ก่อนหน้านี้นายสมคิด ได้มอบหมายให้ สกพอ.เตรียมความพร้อมในการจัดทำโครงการและเปิดประมูลสมาร์ทซิตี้ในอีอีซี เพื่อให้เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการที่เป็นโครสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่อีอีซี 5 โครงการได้แก่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการเมืองการบินภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) โครงการท่าเรือแหลมฉบังและโครงการมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท 

การพัฒนาพัฒนาสมาร์ทซิตี้บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีกลุ่มเอกชนจากประเทศจีนแสดงความสนใจ โดยมีแนวคิดที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial center) ซึ่งโครงการนี้จะผลักดันเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ที่สามารถจะเปิดประมูลโครงการได้ภายในปี 2563 เนื่องจากมีภาคเอกชนที่สนใจที่จะลงทุนอยู่แล้ว 

รวมทั้งต้องการให้ สกพอ.ทำให้มีความชัดเจนในเรื่องของรูปแบบการพัฒนาเมือง มาตรการส่งเสริมการลงทุน นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และดูในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับลงทุนสร้างสมาร์ทซิตี้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้ สกพอ.เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการลงทุน ซึ่งน่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2563 รวมทั้งเร่งรัดการพัฒนาและลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ซึ่งแม้หลายกระทรวงดูแลแต่ต้องทำงานให้เกิดรูปธรรมไม่เช่นนั้นจะยุบรวมเข้ามาร่วมกัน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สกพอ.ได้ไปโรดโชว์เพื่อชักชวนต่างชาติการลงทุนสมาร์ทซิตี้ในอีอีซี เช่น จีน ญี่ปุ่น และมีความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศเพื่อร่วมกันศึกษาการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เช่น สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งเกาหลีใต้