'EEC' เมืองอัจฉริยะ 'ประชากร' อัจฉริยะ

'EEC' เมืองอัจฉริยะ  'ประชากร'  อัจฉริยะ

นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีจิ๊กซอว์หลายตัวที่รวมเป็น EEC การจัดการพื้นที่ที่ทันสมัยและอัจฉริยะทุกมิติ ทำให้หลายพื้นที่ในวางเป้าให้เป็นเมืองอัจฉริยะ แต่เส้นทางที่จะไปนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเป็นอัจฉริยะของคนที่ฝันด้วย

คำว่าเมืองอัจฉริยะนั้น ตามประกาศของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เปิดให้โดยผู้บริหารพื้นที่ใดที่สนใจพัฒนาพื้นที่ของตนเองหรือท้องถิ่นตนเองให้เป็นเมืองอัจฉริยะก็ต้องนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อพิจารณา

การเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษต่าง ๆ ทั้งทางด้านภาษี สิทธิประโยชน์ในการลงทุน (การนำเข้าเครื่องจักรและขยายเวลาลดภาษีรายได้บุคคล)และการสนับสนุนจากรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้มีภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ และองค์การบริหารพื้นที่หลายแห่งได้ยื่นข้อเสนอเป็นเมืองอัจฉริยะจำนวนหลายแห่ง 

โครงการเมืองอัจฉริยะกว่า 27 เมืองขอยื่นเป็นเมืองอัจฉริยะ แต่ก็มีเพียงสองสามเมืองเท่านั้นที่ได้รับคัดเลือกเมื่อปลายปี 2562 ที่ได้เป็นเมืองอัจฉริยะตามเงื่อนไขดังกล่าว โดยในพื้นที่ EEC นั้นมีเพียง โครงการนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเดท รวมทั้ง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC of Innovation) และ สมาร์ทซิตี้มหาไถ่ (กระทรวงดีอี) เท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะ

โดยเป็นพื้นที่ปิดและสร้างขึ้นมาใหม่ มีผู้บริหารชัดเจน ง่ายในการควบคุมและลงทุนโครงการต่าง ๆ สามารถทำให้สอดคล้องและออกแบบภายใต้องค์กรเดียวกัน ส่วนโครงการอื่น ๆ ในพื้นที่ EEC ที่คาดว่าจะได้รับคัดเลือกเป็นสมาร์ทซิตี้ในเร็ว ๆ นี้ ได้แก่ ชลบุรีสมาร์ทซิตี้ (พนัสนิคม) และชลบุรี สมาร์ทซิตี้ (ศรีราชา) และ Rayong smart learning and living

พื้นที่เหล่านี้กำลังพยายามใช้โมเดลของการพัฒนาเมืองให้มีความสมดุลของการใช้ชีวิตทั้งในด้านการทำงาน พักผ่อน และที่อยู่อาศัย แต่การจะเป็นจริง ๆ นั้นต้องใช้เวลา ความต่อเนื่องของโครงการ และประชาชนในพื้นที่ต้องการจริง ๆ และต้องผลักดันให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ประกาศเจตนารมย์เป็นสมาร์ทซิตี้ของพื้นที่เดิมที่เปิดกว้าง ส่วนมากเป็นผู้บริหารท้องถิ่นนั้นที่เป็นเจ้าของโครงการ และเริ่มเรียกร้องการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลาง สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ชุมชนมีความเข้าใจในเป้าหมายของการเป็นสมาร์ทซิตี้น้อย บางส่วนคิดหาประโยชน์ให้กลุ่มตัวเองในการเป็นสมาร์ทซิตี้ เช่น การเรียกร้องสิทธิที่ดิน ภาษี ฯลฯ ทำให้ความก้าวหน้าโครงการเป็นไปอย่างช้า ๆ และหลายแห่งก็เงียบไปเฉย ๆ

ดังนั้น ในระยะสั้น เราอาจเห็นความสำเร็จของสมาร์ทซิตี้ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC นั้นจะอยู่ในพื้นที่ปิดและมีผู้เกี่ยวข้องมีจำนวนจำกัด มีเป้าหมายชัดเจน และผู้เกี่ยวข้องมีประโยชน์ร่วมกันที่ชัดเจน เช่น นิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองใหม่ที่สร้างทุกอย่างขึ้นใหม่ 

ส่วนสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่เดิมยังมีความท้าทายและอุปสรรคมากพอควรโดยเฉพาะการเมืองท้องถิ่นและโดยเฉพาะชุมชนที่ต้องอดทน เข้าใจ และออกแรงร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะ Smart City ต้องเริ่มต้นจาก Smart people ก่อน