‘Bear right’ หนังภาคต่อ ‘ไทยรัน’ ในภารกิจรุกตลาดจดจำใบหน้า

‘Bear right’ หนังภาคต่อ ‘ไทยรัน’ ในภารกิจรุกตลาดจดจำใบหน้า

ตั้งเป้าว่าจะนำเอาความเชี่ยวชาญที่มีในเทคโนโลยี Face Recognition หรือระบบจดจำใบหน้า ขยายไปสู่ตลาดอื่นๆที่นอกเหนือไปจากการวิ่งให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

นี่คือภารกิจของ แบร์ไรท์ (Bear right) ที่เพิ่งก่อตั้งได้แค่ 2 เดือนกว่าๆ และเป็นบริษัทลูกที่สปินออฟแยกตัวออกมาจาก ไทยรัน (ThaiRun)


"แบร์ไรท์จะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวไดร์ฟธุรกิจ ทุกโซลูชั่นที่พัฒนาจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้าทั้งหมดเลย เพราะเรามองว่ามันคือเทรนด์ของเทคโนโลยีทั้งปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงมันจะมีช่องที่เราจะทำแอพพลิเคชั่นได้อีกเยอะ ซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญและชำนาญในเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว ก็จะเอามาพัฒนาเป็นโซลูชั่นที่ตลาดต้องการ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ เพื่อสร้างแวลลูขึ้นมา"


“ไพบูลย์ ศุภศิวะกุล” ซีโอโอ (Chief Operating Officer) ยังได้อธิบายถึงความหมายของแบร์ไรท์ว่า แปลว่า หมี ส่วนไรท์ แปลว่า ความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ เป็นการสะท้อนถึงการทำงานที่ถูกต้องและซื่อสัตย์ของบริษัท แต่อีกความหมายหนึ่งก็คือ การเบี่ยงขวา หมายถึงการไม่อยู่ในกรอบ การออกนอกกรอบ

แบร์ไรท์จะทำใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1. ซอฟท์แวร์ที่เป็นโปรดักส์ 2. ซอฟท์แวร์ที่เป็นแพลตฟอร์ม และ 3.ซอฟท์แวร์ที่เป็นคัสโตไมซ์


"โพซิชั่นนิ่งของเรา คือการโฟกัสซอฟท์แวร์ที่เป็นแพลตฟอร์มและโปรดักส์ รายได้ส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาที่บริษัทต้องมาจากทั้งสองส่วนนี้ ถือเป็นพาสซีฟ อินคัม ขณะที่รายได้ส่วนน้อยมาจากคัสโตไมซ์ ซึ่งเป็นแอคทีฟ อินคัม เราจะพยายามทำงานคัสโตไมซ์น้อยๆ เพราะถ้ามีแอคทีฟ อินคัมเยอะๆ แสดงว่าเราต้องทำงานเยอะๆเพื่อให้ได้เงินเยอะๆ แต่ถ้ามีพาสซีฟ อินคัมเยอะๆ เราก็ไม่ต้องออกแรงมาก ธุรกิจจะโตได้สองเท่า สามเท่า สิบเท่าต้องโตด้วยพาสซีฟอินคัม"


แบร์ไรท์ทำอะไรไปบ้างแล้วบ้าง? คำตอบก็คือกว่า 2 เดือนที่ผ่านมามีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ “เซลฟ์ เซอร์วิส อีเวนท์ เช็คอิน” ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดระบบเช็คอินเข้างานวิ่งของไทยรัน ที่ยังต้องอาศัยพึ่งพาคนหรือเจ้าหน้าที่มาช่วยอำนวยความสะดวก เปลี่ยนเป็นการให้นักวิ่งสามารถเช็คอินเข้างานได้ด้วยตัวเอง


"คอนเซ็ปต์ในการดีไซน์แอพพลิเคชั่นของเรา คือต้องมีการใช้งานได้ง่ายๆ เริ่มจากเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดแล้ว จากนั้นก็จะนำเข้าไปสู่หน้าจอโทรศัพท์ซึ่งระบบจะมีคำสั่งบอกทีละขั้นตอนว่าต้องทำอะไร ซึ่งมันจะบอกให้กดไปที่หมายเลขใบสมัครที่แต่ละคนสมัครไว้ ขั้นตอนต่อไปก็กดเสิร์ซเพื่อตรวจสอบใบหน้า ก็เอากล้องในระบบจับที่ใบหน้า ผู้ที่สแกนผ่านก็สามารถรับเบอร์วิ่งได้เลย เป็นวิธีการเช็คอินที่ง่ายมาก นักวิ่งแต่ละคนใช้มือถือเช็คอินได้ด้วยตัวเอง"


ซึ่งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะสามารถปรับใช้ได้ทุกงานไม่แค่เฉพาะงานวิ่ง ก็คือ งานเอ็กซิบิชั่น งานแฟร์ งานสัมมนา ฯลฯ โดยที่ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม แต่ใช้งานได้ง่ายผ่านบราวเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นระบบไอโอเอสหรือเอนดรอยด์ก็ใช้งานได้


"เวลานี้เรากำลังพัฒนาทำแอพพลิเคชั่นอีกตัวที่คาดว่าจะเสร็จพร้อมขายในไตรมาสแรก เป็นระบบเช็คชื่อเข้าห้องเรียนผ่านใบหน้า เพราะมองเห็นว่าที่ผ่านมามีเพนพ้อยท์ตรงนี้ค่อนข้างมาก ในการเรียนการสอนหนังสือมักต้องเสียเวลาไปกับการเช็คชื่อคนเข้าเรียนทีละคนๆ"


หากนำเอาระบบสแกนใบหน้าเพื่อใช้เช็คชื่อเข้าห้องเรียนน่าจะช่วยทำให้เกิดทั้งความถูกต้องร้อยเปอรเซ็นต์ และสะดวก เมื่อพอจบคาบเรียน ระบบก็จะส่งข้อมูลไปยังห้องฝ่ายทะเบียน หรือไปที่อาจารย์โดยตรงว่าคาบนี้มีนักเรียนคนไหนที่ขาดเรียนบ้าง ซึ่งสามารถนำระบบไปใช้กับการเรียนทั้งระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน หรือโรงเรียนกวดวิชาก็ได้ทั้งหมด


แต่ก่อนจะวางขาย เขามองว่าจำเป็นต้องไปจับมือกับมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 2 แห่ง เพื่อเทสต์และดูฟีดแบ็คที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง ๆว่า การใช้งานของระบบเป็นอย่างไร ตอบโจทย์หรือไม่ เพื่อนำมาปรับให้สอดคล้องเหมาะสม


เมื่อถามถึงการแข่งขัน ไพบูลย์บอกว่าไม่ค่อยน่าห่วงสักเท่าไหร่ หากแน่ใจว่าบริษัทมีครบทั้ง “4 ดี” ได้แก่ 1. เทคโนโลยีดี 2.กระบวนการทำงานที่ดี มีมาตรฐาน 3.โซลูชั่นที่ดี สามารถแก้ไขปัญหา ตอบโจทย์ได้จริง และ 4.มีบิสิเนสโมเดลที่ดี


“เริ่มจากบริษัทต้องเลือกเทคโนโลยีที่ดีก่อน เพราะมันเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจที่ดี ซึ่งเราเลือกระบบจดจำใบหน้าซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความคุ้นเคยและชำนาญอยู่แล้ว จากนั้นก็ดูกระบวนการผลิตภายในของบริษัทก็ต้องดี สมมุติว่าเรามีทีมอยู่สองทีม เมื่อให้ทั้งสองทีมทำงานโปรเจ็คที่คล้ายๆกัน ผลงานที่ออกมาก็ต้องใกล้เคียงกัน หรืออาจมีอยู่ทีมเดียวแต่ต้องไปทำงานสองโปรเจ็ค กระบวนการทำงานของทั้งสองโปรเจ็คที่ออกมาก็ต้องใกล้เคียงกัน เปรียบกับการทำอาหาร ถ้าปรุงจานแรกรสชาติออกมาดี แต่ปรุงจานที่สองรสชาติกลับแย่ แสดงว่ามาตรฐานไม่ดี”


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตพัฒนาซอฟท์แวร์นั้น มาตรฐานการทำงานถือว่ามีความสำคัญมาก แต่ก็ท้าทายมากเช่นกัน เนื่องจากคำว่ามาตรฐานเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ โดยยกตัวอย่างเช่น ในกรณีบริษัททำงานที่เป็นคัสโตไมซ์ แอพพลิเคชัน ก็จะต้องมีการกำหนดกรอบในการทำงาน ทำข้อเสนอ พูดคุยกับลูกค้าให้รู้ถึงความคาดหวังของเขา ซึ่งทุกอย่างต้องแมตซ์กันลงตัว ถ้าจุดเริ่มต้นไม่แมตซ์กัน ระหว่างทางมันก็จะไม่เจอกัน กระบวนการต่อไปก็คือการคิกออฟโปรเจ็ค คนทำงานต้องเข้าใจว่าในโปรเจ็คนี้แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรอย่างไร และจะมีสเต็ปรีไควร์เมนท์แคทเทอริ่ง , รีไควร์เมนท์อนาลิซิส, รีไควร์เมนท์ดอกคิวเมนท์ติ้ง นำเอารีไควร์เมนท์ของลูกค้ามาวิเคราะห์ ลงบันทึกและสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจตรงกัน แน่นอนว่าถ้าความต้องการไม่ตรงกัน สุดท้ายไฟนอลโปรดักส์ก็ไม่ตรงกัน


จากนั้นก็ต้องมาดีไซน์ ออกแบบ ซึ่งต้องเมคชัวร์ว่าทุกเรื่องที่ออกแบบต้องครอบคลุมทุกรีไควร์เมนท์ของลูกค้าทั้งหมด ไม่ใช่ตรงนี้ที่ขาดไป ตรงนั้นที่ขาดไป และในขั้นตอนการออกแบบ ต้องมีวิธียืนยันกับลูกค้าให้ตรงกันอยู่เสมอว่าสิ่งที่บริษัทหน้าตาจะออกมาเป็นแบบไหน ลูกค้าโอเคหรือไม่ จนจบพาร์ทของการดีไซน์ ถึงจะเริ่มเขียนโปรแกรม สำหรับเรื่องของโซลูชั่นที่ดี หมายถึงการตอบรับของตลาด หากทำออกมาแล้วไม่น่าสนใจ ตลาดยังมีทางเลือกอื่นๆ ก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายก็คือ บิสิเนสโมเดล ซึ่งแบร์ไรท์มีเป้าหมายจะทำ 3 เรื่องหลักๆ ก็คือแพลตฟอร์ม ,โปรดักส์ และคัสโตไมซ์ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น


“ถ้าเทคโนโลยีเรายังไม่ดีเลย ก็ยังไม่ต้องไปแข่งกับเขา หรือถ้ากระบวนการทำงานของเรายังไม่ดีเลย ก็ยังไม่ต้องไปแข่งกับเขา หรือโซลูชั่นยังไม่ดี ก็ยังไม่ต้องไปแข่งกับเขา ถ้าโซลูชั่นที่คิดออกมาไม่ได้แปลกใหม่ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าของเราเหนือกว่าเขาอย่างไร ถ้าไม่เหนือกว่าก็ไม่รู้ว่าจะไปแข่งได้อย่างไร และจะได้ส่วนแบ่งการตลาดไม่มาก แต่ถ้ามีจุดเด่นหรือทำได้เด่นกว่าเขา ก็จะได้ส่วนแบ่งการตลาดมามาก สุดท้ายคือบิสิเนสโมเดล ซึ่งเราอยากโตด้วยพาสซีฟ อินคัม”


ไพบูลย์มองว่า บิสิเนสโมเดลถือเป็นคีย์ซัคเซสสำคัญ เพราะการทำคัสโตไมซ์หมายถึงการทำงานที่เหนื่อยและจะต้องเหนื่อยไปตลอด การเติบโตแบบก้าวกระโดดสิบเท่า ร้อยเท่าก็ทำได้ยาก จะต้องเติมคนเข้าไปเพื่อให้ได้โปรดักส์ทิวิตี้ที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำก็ยิ่งต้องเติมคนมากขึ้นกว่าเดิม บริษัทก็จะไม่คล่องตัวแบบเดิม ส่วนการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือโปรดักส์จะใช้คนน้อยกว่าแต่บริษัทจะสเกลได้มากกว่า แต่บทสรุปก็คือ แบร์ไรท์จะเป็นสตาร์ทอัพที่่ขอเริ่มต้นด้วยโปรเจ็คเล็ก ๆที่สามารถสร้างรายได้ทันที แล้วจะค่อยๆทำให้ธุรกิจใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ