ประเทศไทย 2563: "25 พรรค" ในสภา

ประเทศไทย 2563: "25 พรรค" ในสภา

สถานการณ์ทางการเมืองในปี 2563 เศรษฐกิจสะท้อนความนิยมรัฐบาล

พิพากษาคดียุบพรรคอนาคตใหม่, การปรับคณะรัฐมนตรี , ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล, การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล, แจกกล้วยแลกงูเห่า, แก้รัฐธรรมนูญ และอีก ฯลฯ คือปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะส่งผลถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปี 2563

หลังจากเหตุการณ์สงบนิ่งช่วงส่งท้ายปีเก่าเข้าปีใหม่ อีกไม่นานการเมืองไทยก็จะกลับมาเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม ซึ่งมีกิจกรรม “วิ่ง ไล่ ลุง” การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบรายบุคคลของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เรื่อยมาถึงการปรับคณะรัฐมนตรี ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดน่าจะสร้างแผลให้กับรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้พอสมควร

แม้จะมีกลุ่มต่อต้าน มีปัจจัยแวดล้อมที่สั่นคลอนอยู่บ้าง แต่คาดการณ์กันว่า เสถียรภาพของรัฐบาลก็ยังแข็งแรงดีอยู่ ด้วยจำนวนเสียง ส.ส.ฝากรัฐบาล 258เสียง ต่อ ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวน 239 เสียง ซึ่งเปลี่ยนเสียงปริ่มน้ำให้เป็นรัฐบาลที่พอหายใจหายคอได้สะดวกขึ้น ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมี ส.ส.ฝากรัฐบาล บางรายเห็นด้วยก็เป็นไปได้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ศึกษาวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อไม่ให้พรรคร่วมรัฐบาลต่อว่า และเปรียบเสมือนการซื้อเวลาเพียงเท่านั้น อีกทั้งสำหรับนักเลือกตั้ง เวลานี้ไม่ใช่โอกาสดีสำหรับการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่อย่างแน่นอน ท่าทีของความไม่ลงรอยในพรรคร่วมจึงเกิดขึ้นแค่เพียงเบื้องตื้น หากเบื้องลึกต่างฝ่ายก็ต่างสมประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ที่น่าสนใจกว่าและเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลมากกว่าคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องของประชาชน ราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งเป็นโจทย์ยากที่ต้องแสดงฝีมือ ยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากภาวะสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีน การส่งออกของไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจโดนพิษของค่าเงินบาทแข็งตัว การขับเคลื่อนเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานซึ่งยังเดินหน้าไม่เต็มกำลังนัก และทั้งหมดนี้ต่างหากคืองานหินที่รอพิสูจน์และเป็นตัวแปรสะท้อนถึงความนิยมของรัฐบาลเอง