SEED สร้างคนพันธุ์กล้าหนุนสตาร์ทอัพสู่ ศก.สีเขียว

SEED สร้างคนพันธุ์กล้าหนุนสตาร์ทอัพสู่ ศก.สีเขียว

SEED สร้างคนพันธุ์กล้าหนุนสตาร์ทอัพสู่เศรษฐกิจสีเขียว ขณสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งยังมีปัญหาขยะในทะเล พลาสติกล้นเมือง และน้ำเสีย ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกประเทศต้องร่วมมือกัน

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน(พีเอ็ม 2.5) เป็นมลพิษทางอากาศทำลายสุขภาพประชาชนที่มักเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. -ก.พ.ของทุกปี ปัจจัยก่อพีเอ็ม 2.5 มีนานัปการทั้งการเผาไหม้ของไอเสียยานยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาทำลายตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยว เรียกได้ว่าทุกคนล้วนมีส่วนร่วมสร้างพีเอ็ม 2.5 ด้วยกันทั้งสิ้น มิหนำซ้ำหมอกควันฝุ่นพิษยังเป็นปัญหาข้ามพรมแดนที่หลายประเทศต้องเผชิญ การแก้ไขคงไม่มีประเทศใดทำได้เพียงประเทศเดียวต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากรูปแบบ

157993318636

เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า สถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาขยะในทะเล พลาสติกล้นเมือง และน้ำเสีย ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกประเทศต้องร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพราะประเทศเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามลำพัง และจำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตลอดจนการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสที่กำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เห็นผล

"ประเทศไทยถือว่า เป็นพันธมิตรที่สำคัญของเยอรมนี ในด้านความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการขยะ ของเสียรวมทั้งการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี"

157991370217

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ได้มอบรางวัล "SEED Awards 2019" ให้กับสตาร์ทอัพผู้เข้ารอบสุดท้ายที่มาจากภูมิภาคเอเชียได้แก่ ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และประเทศจากภูมิภาคแอฟริกาได้แก่ กานา แอฟริกาใต้ ยูกันดา

ชมิดท์ ชี้ว่า พวกเขาคือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมมาผลิตสินค้าทำจากพลาสติก หรือวัสดุเหลือทิ้งทางเกษตร ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญและขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

SEED เป็นการรวมตัวขององค์กรต่างๆ ในฐานะโครงการความร่วมมือระดับโลก โดยมีรัฐบาลเยอรมนีเป็นผู้ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2545 เพื่อดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย SEED นำเสนอโปรแกรมการพัฒนาธุรกิจ ตั้งแต่การบ่มเพาะจนถึงระยะเติบโต ให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ต้องการเติบโตโดยใช้กลไกตลาด ในการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระบบเศรษฐกิจสีเขียว

ด้าน เลวิส อาเคนจิ ผู้อำนวยการบริหาร SEED กล่าวว่า SEED ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมผลักดันให้เข้าสู่การดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจสีเขียว โดยในปี 2562 มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการ 906 ราย โดย 690 รายมาจาก 9 ประเทศในแอฟริกา อีก 216 รายมาจากภูมิภาคเอเชีย

“ส่วนตัวมองว่า ผู้ประกอบการเศรษฐกิจสีเขียวเติบโตต่อเนื่องทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพธุรกิจบริการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสภาวะตลาดที่เอื้ออำนวย ทำให้องค์กรขนาดเล็กที่กำลังเติบโตสามารถมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มมากขึ้น" อาเคนจิกล่าวและว่า

เพราะ SEED ตระหนักดีว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงอากาศทำให้โลกร้อนขึ้น และเป็นต้นเหตุสำคัญก่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยพบว่า ในปี 2561 โลกสูญโอกาสทางเศรษฐกิจกว่า 223,000ล้านดอลลาร์ และมีคนกว่า 60 ล้านคนทั่วโลกรับผลกระทบจากพิบัติภัยทางธรรมชาติ

ขณะที่ จารุวรรณ คำเมือง กรรมการผู้จัดการ ฟางไทย แฟคตอรี่ ของประเทศไทย ผู้รับรางวัลบรรจุภัณฑ์ทำจากกระดาษฟางข้าวโดยชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า รางวัลนี้ตอกย้ำความภูมิใจ และแนวทางการทำงานมากว่า 5 ปีที่ไม่ใช่แค่สามารถคิดค้นบรรจุภัณฑ์จากกระดาษฟางข้าวที่ใช้เครื่องอัดด้วยความร้อน ซึ่งช่วยลดพลังงาน ต้นทุน และไม่ใช้สารเคมี แต่บริษัทยังสร้างธุรกิจชุมชน โดยชาวนาสามารถนำฟางข้าวมาขายกับโรงงานในกิโลกรัมละ 1 บาท เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดการเผาทำลายก่อมลพิษทางอากาศอีกทางหนึ่ง

157991371148

จารุวรรณ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการ SEED ได้ช่วยให้คำปรึกษากับฟางข้าว แฟคตอรี่ ทั้งแผนธุรกิจ ติดตามและขยายผลทางธุรกิจ นอกเหนือจากที่บริษัทได้เข้าร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบของประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจสีเขียวที่นำผลิตภัณฑ์ฟางข้าว แฟคตอรี่ ไปจัดแสดงเพื่อทำการตลาดใน 13 ประเทศ อาทิ สหรัฐ อิตาลี และญี่ปุ่น