'แบงก์กรุงเทพ' ดันเอสเอ็มอีโต 4%

'แบงก์กรุงเทพ' ดันเอสเอ็มอีโต 4%

"แบงก์กรุงเทพ" ตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้โต 3-4% ชี้ความต้องการสินเชื่อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจค้าขายออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซโตไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่ดีมานด์ขอสินเชื่อนำเข้าเครื่องจักรขยายตัว จากเงินบาทแข็งค่า พร้อมระวังปล่อยกู้เพิ่มใน

      นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้จะเติบโตได้ราว 3-4 %  จากพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้าง ณ สิ้นปี 2562 กว่า 6 แสนล้านบาท เนื่องจากคาดว่าลูกค้าในพอร์ตของธนาคารยังมีอัตราการเติบโตดี มีความต้องการสินเชื่อต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากธุรกิจค้าขายออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ที่สินเชื่อยังเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10 % 

      ทั้งนี้ จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว หันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ มีความต้องการสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจ ส่วนอีกกลุ่มที่มีสินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง คือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร และบริการ ที่มีความต้องการ(ดีมานด์)ในการขอสินเชื่อต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อลงทุนเกี่ยวกับพัฒนากำลังการผลิตต่างๆ

     นอกจากนี้ ยังเห็นลูกค้าบางรายมีการขอสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซื้อเครื่องจักร เป็นผลมาจากภาครัฐที่มีการออกมาตรการสนับสนุน ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการซื้อเครื่องจักรในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า  ซึ่งจะทำให้การนำเข้าถูกลง ทำให้มีเห็นภาคธุรกิจบางรายซื้อเครื่องจักรใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะซื้อมาใช้ปรับปรุงกำลังการผลิต ซื้อเครื่องจักรที่เกี่ยวกับออโตเมชั่น เพื่อลดการใช้แรงงานคน จากแรงงานที่ขาดแคลนมากขึ้น

  อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีบางส่วนที่ยังมีความเปราะบาง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ซึ่งทำให้ยอดขายต่างๆของภาคธุรกิจลดลง และกระทบต่อการชำระหนี้ของธนาคารด้วย ดังนั้นกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่ธนาคารต้องเข้าไปช่วยเหลือมากขึ้น แต่โดยภาพรวมแล้ว ธนาคารยอมรับว่า มีการระมัดระวังมากขึ้นในการปลอ่ยสินเชื่อในปีนี้ เพราะภาพรวมยังเห็นผลกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ซึ่งกระทบต่อการทำธุรกิจ และกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่ลดลงได้

     “ปกติการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ เราระมัดระวังอยู่แล้ว เราไม่ได้เร่งมาก และค่อนข้างระวังพอสมควรกับบางกลุ่มลูกค้า  ยังไม่ได้ลดการระมัดระวังลง  เพราะวันนี้ความเปราะบางเพิ่มขึ้น ทุกแบงก์ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่เปราะบาง เกิดขึ้นและล้มได้ง่าย คนที่อยู่รอดได้มี 2 อย่าง คือต้นทุนต้องต่ำและต้องมีความต่าง ถึงจะได้มาร์จินดี ซึ่งในแง่ของแบงก์เรามีการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องกับรายที่มีปัญหา”

      สำหรับภาพคุณภาพหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีปีนี้ ธนาคารจะดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลให้อยู่ระดับทรงตัว หากเทียบกับปี 2562 โดยหากดูเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีปัจจุบัน เชื่อว่าอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือต่ำกว่าเอ็นพีแอลของแบงก์ที่อยู่ที่ระดับ 3.40 % ขณะเดียวกันเหตุผลที่เอ็นพีแอลของแบงก์ในภาพรวม ยังอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนหนึ่ เป็นผลมาจากการที่แบงก์มีการบริหารหนี้เสียเอง ไม่ได้ขายออกเหมือนธนาคารอื่นๆทำให้เอ็นพีแอลอาจไม่ได้ลดลงเร็วนัก

      ส่วนกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการให้แบงก์เข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเอสเอ็มอีนั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งหนุนให้แบงก์เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าได้มากขึ้น เพราะภาระการตั้งสำรองของแบงก์ลดลง หากเทียบกับเกณฑ์ปกติที่อยู่บนมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่แบงก์ต้องตั้งสำรองตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า และเมื่อคุณภาพลูกค้าแย่ลง การฟื้นกลับมาสู่ระดับปกติได้ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน จึงจะมีการปรับชั้นลูกค้าให้ดีขึ้น แต่ภายใต้มาตรการดังกล่าว จะช่วยหนุนให้ลูกหนี้ฟื้นตัวเร็วขึ้นหากคุณภาพหนี้ตกชั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งโอกาสให้กับลูกค้าและแบงก์มากขึ้น ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าและการให้บริการในระยะข้างหน้า

       สำหรับกรณีที่ให้ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอี โดยการปรับประเภทสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้ามีภาระจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ถูกลง จากการเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิต เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาหรือเทอมโลน ที่มีอัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 6.25 % หากเทียบกับบัตรเครดิตที่ 18 % เชื่อว่าทำให้ธนาคารจะได้รับดอกเบี้ยต่ำลง แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้ NIM ลดลง เพราะธนาคารสามารถให้บริการผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมได้ เมื่อลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ดี ขณะที่เดียวกันก็ไม่เพิ่มภาระการกันสำรองหนี้ด้วย