'จุฬางกูร' ปล่อยกู้ 'นกสกู๊ต' เพิ่ม 200 ลบ.

'จุฬางกูร' ปล่อยกู้ 'นกสกู๊ต' เพิ่ม 200 ลบ.

'หทัยรัตน์ จุฬางกูร' หุ้นใหญ่นกแอร์ ปล่อยกู้ให้ 'นกสกู๊ต' เพิ่มเติมอีก 200 ล้านบาท หลังจากที่เคยขยายวงเงินกู้ยืมให้กับนกแอร์มาแล้วถึง 3 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทเตรียมเดินหน้าเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2.22 พันล้านบาท ช่วงต้นเดือน ก.พ. นี้

บริษัท สายการบินนกแอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ NOK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2563 เมื่อ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาและมีมติการให้สัตยาบันการเข้าทํารายการเกี่ยวโยงของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จํากัด ในฐานะบริษัทย่อยของบริษัท กับ นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท กรณีรับความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้วงเงินกู้ยืม 200 ล้านบาท และทําให้การเข้าทํารายการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการทํารายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียน

ทั้งนี้วงเงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า 200 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่ 12 ธ.ค. 2562 - 11 ธ.ค. 2563 โดยมีอัตราดอกเบี้ย 6.30% ต่อปี เทียบกับ อัตราเฉลี่ยดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาของธนาคารพาณิชย์ ณ วันที่ 22 ม.ค. 2563 ที่ 6.9263% ต่อปี

ทั้งนี้นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 24.37% ถือหุ้นรวม 757.63 ล้านหุ้น เคยปล่อยวงเงินกู้ยืมให้กับสายการบินนกแอร์มาแล้วรวม 3,000 ล้านบาท ในช่วงตั้งแต่ปี 2561 - 2562 โดยในคราวนั้นเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทสามารถทยอยเบิกถอนตามความจำเป็น ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินจะมีอายุคราวละไม่เกิน 180 วัน โดยอัตราดอกเบี้ยในคราวนั้นอยู่ที่ 7.175% ต่อปี ซึ่ง NOK ต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายปีละ 215.25 ล้านบาท

   พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนรวมประมาณ 888.14 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยบริษัทจะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ในสัดส่วน 3.5 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุนใหม่ กรณีมีเศษหุ้นให้ปัดทิ้ง และสามารถจองเกินสิทธิได้ โดยราคาเสนอขายอยู่ที่ 2.50 บาท ซึ่งหากบริษัทสามารถเพิ่มทุนได้ครบทั้งจำนวน จะทำให้บริษัทได้รับเงินเพิ่มทุนราว 2.22 พันล้านบาท โดยกำหนดวันจองซื้อและรับการชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนระหว่าง 3 – 7 ก.พ. ปี 2563

   สำหรับการเพิ่มทุนในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ฐานะการเงินของ NOK อ่อนแอลงอย่างมากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ งวด 9 เดือน ปี 2562 ของบริษัท ยังมีผลขาดทุนสะสมถึง 9.55 พันล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบราว 2.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นอยู่ราว 5.78 พันล้านบาท ส่วนผลประกอบการงวด9เดือนปี 2562 มีผลขาดทุน1.61 พันล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน1.96 พันล้านบาท