ภาคเอกชนลุย แก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5

ภาคเอกชนลุย แก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5

ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่รุนแรงในขณะนี้ ไม่ได้มีเพียงภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาเท่านั้น ในส่วนของภาคเอกชนก็ได้เข้ามาช่วยเหลือและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยล่าสุดในวันที่ 29 ม.ค.นี้ จะได้ภาพแผนใหญ่ของเอกชนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นดังกล่าว

กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย ว่า ภาคเอกชนมีแผนที่จะระดมสมองเพื่อร่วมมือแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยเบื้องต้นได้หารือกับกลุ่มโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะออกมาตรการกดราคาอ้อยที่ไฟไหม้ให้ต่ำกว่าอ้อยปกติ เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อยในระยะยาวอาจจะพิจารณาไม่ซื้ออ้อยไฟไหม้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยได้อย่างเด็ดขาด 

รวมทั้งร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรการเกษตรให้สนับสนุนเครื่องอัดฟางข้าว และใบอ้อย รวมทั้งเครื่องตัดอ้อย เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลและอาหารสัตว์ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร โดยจะสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรซื้อเครื่องจักรเหล่านี้ไปให้เกษตรกรเช่า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นได้ดี

โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะไปหารือสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตร หรือหอการค้าจังหวัด ซื้อเครื่องจักรบืบอัดฟาง และใบอ้อย รวมถึงเครื่องตัดอ้อย จัดทำโมเดลธุรกิจบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดธุรกิจการเช่า หรือบริการเครื่องจักการเกษตรเหล่านี้"

"ผลจากแผนการสนับสนุนนี้เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงในราคาที่ถูก และธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการลดฝุ่น ยังช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากขึ้น"

นอกจากนี้จะหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุก ที่เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างฝุ่น โดยจะร่วมหาแนวทางช่วยเหลือในการปรับปรุงเครื่องยนต์และสภาพรถให้ลดการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย รวมทั้งการขอความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจก่อสร้างให้ช่วยหาทางลดการเกิดฝุ่น เช่น การฉีดสเปรย์ละอองน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นในพื้นที่เมืองได้มาก ตลอดจนร่วมมือกับสมาชิกหอการค้าที่เป็นเจ้าของโรงงานทั่วประเทศให้ช่วยปรับแต่งเครื่องจักรให้ลดการปล่อยฝุ่น

"ภายใน 1-2 วันนี้ สภาหอการค้าฯ จะเร่งระดมสมองภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างละเอียด จากนั้นจะนำแผนการแก้ปัญหาของเอกชนทุกภาคส่วนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ก่อนสนอให้กับรัฐบาลพิจารณา"

ส่วนบทบาทที่สำคัญอีกอย่างของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคือการเข้าไปหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศ ให้ออกมามีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศได้ในระยะยาว

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้ร่วมมือกับกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโรงกลั่นน้ำมัน ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนลดฝุ่น โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะเปิดให้บริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์เก่าที่หมดอายุประกันของแต่ละค่ายรถยนต์ให้ฟรี 30 รายการ และหากจะต้องเปลี่ยนอะไหล่ก็จะลดราคาลง 20% โดยมาตรการนี้จะใช้สำหรับศูนย์บริการของค่ายรถยนต์ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งปตท. ยังได้ให้ส่วนลดน้ำมันเครื่อง 50% และในอนาคตคาดว่าจะมีอีกหลายบริษัทเข้าร่วมโครงการนี้ โดยโครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก..พ.นี้ มีระยะเวลา 1 เดือน ตั้งเป้าที่จะมีรถยนต์มาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคัน

157986807012

จะหารือกับกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะเป็นการลดต้นกำเนิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างตรงจุดและยั่งยืน โดยเบื้องต้นมองว่ารัฐบาลควรลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าให้เหมือนกับมาตรการรถยนต์คันแรก ทำให้ราคาลดลงกว่าแสนบาทต่อคัน หรือการสนับสนุนสหกรณ์แท็กซี่ให้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า 

ผ่านมา ส.อ.ท. ได้มีการผลักดันและส่งเสริมให้สมาชิกโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินงานตามแนวทางโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยเป็นมาตรการที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษของทางภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โดยสถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้มีการศึกษาวิจัยเชื้อเพลิงมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี โดยเฉพาะน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด เผาไหม้สมบูรณ์ มีกำมะถันและสารอะโรเมติกส์ต่ำ และยังมีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่า รถกระบะเครื่องยนต์ยูโร 4 ที่ใช้ B10 สามารถช่วยลด PM2.5 ได้ถึง 3.5% เมื่อเทียบกับการใช้ B7

ทั้งนี้  สถาบันนวัตกรรมยังได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการทดสอบการใช้ B10 และ B20 เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานจริง สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซล ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงโรงกลั่น เพื่อรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงยูโร 5 คุณภาพสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต และ กลุ่ม ปตท. ได้กำหนดกระบวนการผลิตและกระบวนการปฏิบัติการให้ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น เช่น การบริหารจัดการรถยนต์ของผู้รับเหมาในโครงการ

จากความพยายามของภาคเอกชนเพื่อร่วมกันลดปัญหาฝุ่นPM2.5 ที่เป็นภัยร้ายคุมคามคนไทยในขณะนี้ หากได้ภาครัฐให้การสนับสนุนก็เชื่อว่าปัญหาจะคลี่คลายได้ในเร็ววัน

157996957194