ฝ่าวิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5 I Green Pulse

ฝ่าวิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5 I Green Pulse

แม้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจและมะเร็ง จะบรรเทาลงไปบ้างในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเมื่อมีกระแสลมพัดทำฝุ่นเกิดการกระจายตัวดีขึ้น

หากรัฐมนตรีมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดาคาดการณ์หลังมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธานในวันพฤหัสฯที่ผ่านมาว่า ฝุ่นพิษจะกลับมาหนาแน่นและลอยนิ่งอยู่ในเมืองอีกครั้ง ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังไม่วางใจสถานการณ์ เพราะหากประเมินตามการวางแผนของรัฐ ช่วงระยะเกิดสถานการณ์วิกฤติฝุ่นพิษนี้ จะกินเวลาไปจนถึงเดือนเมษายน ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาพิษนี้ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

นอกจากนี้ ล่าสุด รัฐบาลยังได้ออกมาตรการยกระดับการแก้ปัญหาซึ่งเป็นความเข้มงวดในการใช้กฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญๆ ที่อาจหมายถึงการจำกัดสิทธิของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนบางประการ อาทิ การห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองสลับวัน เป็นต้น ทำให้แม้แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเอง ต่างถกเถียงกันในมาตรการที่ยกระดับดังกล่าว ก่อนนำไปสู่มติในที่ประชุมที่ให้ยึดมาตรการตามแผนฯ เป็นหลัก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับมอบอำนาจในการสั่งการ สามารถใช้ดุลพินิจในการปรับใช้มาตรการต่างๆตามความเหมาะสมของสถานการณ์ รวมทั้งมาตรการที่ยกระดับต่างๆนั้นด้วย

แม้จะมีแผนฯและมาตรการยกระดับที่ออกมาล่าสุด แต่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานตรวจสอบมลพิษ นำโดยกรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ BioThai EnLAW และอีกหลายองค์กร ต่างตั้งคำถามต่อแผนฯ และมาตรการต่างๆในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ของรัฐบาล โดยล่าสุด ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ขอคืนอากาศสะอาดจากรัฐบาลเช่นกัน หลังจากมีการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาของรัฐ นับตั้งแต่ที่ฝุ่น PM2.5ได้กลายมาเป็นประเด็นในสังคมตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา และพบว่าความรุนแรงของปัญหา โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายแต่อย่างใด

ทางเครือข่าย ชี้ว่า เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากแผนฯ คือ ทีมเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน และระบบการสื่อสารสาธารณะที่รวดเร็ว ฉับไว แม่นยำ ที่จะช่วยประชาชนเข้าใจสถานการณ์และตอบสนองต่อเหตุการณ์และป้องกันตัวเองได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษ อดีตข้าราชการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนธิ คชวัฒน์ ซึ่งได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ให้กับสังคมในเวลานี้

ในมาตรการช่วงสถานการณ์วิกฤต 12 ข้อที่รัฐบาลได้เห็นชอบไป ทางเครือข่ายเห็นว่า มาตรการดังกล่าว ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่มีฐานข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เช่น จะตรวจสอบโรงงานประเภทใด จะลดฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นปริมาณเท่าใด และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานของภาครัฐได้อย่างไร 

การจัดทำฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ PM2.5 (Inventory) ได้คำนึงถึงมลพิษทางอากาศข้ามจังหวัด(Interprovincial)หรือข้ามพรมแดน(Transboundary)ด้วยหรือไม่ และที่สำคัญ มาตรการ 12 ข้อนั้น ทางเครือข่ายมองว่า เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องควบคุมตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นตามกฏหมายอยู่เดิมแล้ว

ส่วนมาตรการขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานนั้น ทางเครือข่ายคาดว่า จะไม่เกิดขึ้นได้เลย หากไร้ซึ่งแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่แท้จริง เช่น การลดราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทั้งระบบ หรือการใช้ขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีวิกฤตฝุ่น 

ทางเครือข่ายเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มต้นปกป้องประชาชนจากฝุ่นพิษ PM2.5 ที่การปรับ “ค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศ" ของประเทศไทยให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่ 3 ของ WHO โดยที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีคือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปีนี้ ซึ่ง ณ เวลานี้ อยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเน้นมาตรการการลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือกระทั่งรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม โดยยังเป็นค่ามาตรฐานของ “ฝุ่นละอองรวม” ทั้งที่ความเป็นพิษของฝุ่นแต่ละขนาดมีไม่เท่ากัน และการตรวจวัดก็ต่างกัน

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐจะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศและให้ข้อแนะนำการซื้อและใช้อุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษขนาดเล็กและการตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์, ทางเครือข่ายระบุ

สิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอต่อสาธารณะคือความเพิกเฉยต่อปัญหา สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ และโยนภาระมาให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีในท้ายที่สุดทางเครือข่ายระบุ

 

ฝุ่นพิษต่างจังหวัด

นอกจากปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในเมืองใหญ่แล้ว ประเทศไทยยังเผชิญฝุ่นพิษจิ๋วนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งการเผาในที่โล่ง และหมอกควันข้ามพรมแดน ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษจิ๋วในพื้นที่เหล่านี้

ในแผนปฏิบัติการฯ ได้กล่าวถึงมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่ง ผ่านกลไกบัญชาการของผู้ว่าฯ และการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรท้องถิ่น ป่าไม้ และอื่นๆ หากอาจารย์สนธิมองว่า ยังขาดการบูรณาการที่ตรงต่อสภาพปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 9 จังหวัดภาคเหนือที่มักมีปัญหาเรื่องการเผาวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ให้ชัดเจน

โดยอาจารย์สนธิมองว่า การทำงานของรัฐ ผ่านการบัญชาการของผู้ว่าฯ ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การประกาศงดการเผาจึงขึ้นกับแต่ละจังหวัดจะประกาศเอง ปัญหาฝุ่นPM 2.5ส่วนใหญ่ จึงเกิดจากการ"ชิงเผา"ของเกษตรกรในแต่ละจังหวัด ทำให้ฝุ่นควันจากจังหวัดหนึ่งข้ามแดนไปอีกจังหวัด หรืออาจเกิดการชิงเผาพร้อมกันในพื้นที่9จังหวัดภาคเหนือ เช่น การเผาที่ลำปาง เชียงใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่นพิษในต่างจังหวัด ยังเกิดจากการเผาอ้อยก่อนนำเข้าโรงงาน ซึ่งมีมากถึงประมาณ 6 ล้านไร่ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตก มีโรงงานน้ำตาลทรายอยู่ถึง 52 จาก 58 แห่ง

อาจารย์สนธิกล่าวว่า อ้อยที่เผาเพื่อการเก็บเกี่ยว เมื่อตัดแล้วต้องเข้าหีบอ้อยภายใน 2 วันไม่เช่นนั้นความหวานจะลดลงมาก จึงคาดว่า ในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะเกิดการเผาไร่อ้อยจำนวนมากที่จังหวัดกาญจนบุรี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ราชบุรี นครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลยังไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมาตรการทดแทนการเผายังไม่พร้อม

ในขณะที่ ทางเครือข่าย มองว่า การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จากภาคเกษตรกรรม เป็นปัญหา "อภิสิทธิชน" และการส่งเสริมบทบาทกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษทางอากาศและการใช้สารเคมีการเกษตรร้ายแรงของประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข

รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมและลดการเผานี้อย่างเข้มข้น และเข้มงวดให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยน การพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการเศษซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อฟื้นฟูพัฒนาดิน

 และในระยะยาว มีความจำเป็นในการลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวทั้งข้าวโพด และอ้อย ซึ่งทางเครือข่ายมองว่าไม้เป็นประโยชน์ทั้งเกษตรกรและประชาชน นอกจากทุนขนาดใหญ่

 “ วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้น ได้แสดงให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปได้เห็นแล้วว่า เราไม่อาจปล่อยให้ทิศทางการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศเป็นไปตามแรงผลักดันของบริษัทยักษ์ใหญ่หรือหน่วยงานรัฐแต่เพียงลำพัง” เครือข่ายระบุ

 

ทางออกระยะยาว

วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติลงโทษหรือความโชคร้าย รากเหง้าของปัญหามาจากการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และไม่มีมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมรองรับก่อนการตัดสินใจอย่างเพียงพอ ผลจากแรงกดดันทางสังคม รัฐบาลประกาศมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมาอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่ไม่ได้ผล ทางออกจากวิกฤตนี้ นอกจากการรับมือเฉพาะหน้าแล้ว ต้องอาศัยการทำงานในระยะยาวเครือข่ายขออากาศดีคืนมากล่าว

ทางเครือข่าย ได้เสนอทางออกในระยะยาวสำหรับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นี้ผ่านเครื่องมือที่สำคัญคือ ‘กฏหมาย’ เช่น 

(1)กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือกระทั่งรถยนต์

(2) การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register)

(3) กฏหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) ที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน

(4) กฏหมายกำหนด ‘ระยะแนวกันชน’ ระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน (Buffer zone)

(5) การดึงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เพื่อจัดการปัญหามลพิษ เช่นมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมกับมาตรการเชิงบังคับควบคุมที่ต้องใช้งบประมาณมากแต่ไม่เพียงพอในการจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

หากประเทศไทยเริ่มต้นถอดรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะสามารถฝ่าวิกฤตมลพิษทางอากาศนี้ได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทยทางเครือข่ายระบุ