'กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์' ดาวเด่น 'เทรดวอร์' คลี่คลาย-หนุนยอดขายฟื้น

'กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์' ดาวเด่น 'เทรดวอร์' คลี่คลาย-หนุนยอดขายฟื้น

การส่งออกถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอาการสาหัสจริงๆ

ท่ามกลางสารพัดปัจจัยลบโหมกระหน่ำ ไล่มาตั้งแต่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง จากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ กดดันการผลิตของหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าของไทย

ขณะที่ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำ กดดันการส่งออกน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่อง ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ อย่างรถยนต์และชิ้นส่วนชะลอตัวจากการแข่งขันที่รุนแรง และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังตกต่ำ

นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก คือ “เงินบาทที่แข็งค่าแรง” โดยปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 7% มากที่สุดในภูมิภาค ทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกันเมื่อผู้ประกอบการส่งออก นำรายได้แลกกลับมาเป็นเงินบาท จะได้รับจำนวนเงินที่ลดลง จึงสะเทือนกันไปหลายธุรกิจ ทั้งรถยนต์ สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

โดยปี 2562 มูลค่าการส่งออกรวมในรูปสกุลเงินดอลลาร์อยู่ที่ 246,245 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.7% จากปีก่อน ติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 7,627,663 ล้านบาท ลดลง 5.9% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังสหรัฐและจีนได้ลงนามข้อตกลงการค้าเฟส 1 ร่วมกันไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา และพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อเจรจาข้อตกลงเฟสต่อๆ ไป

ขณะเดียวกันเริ่มเห็นการฟื้นตัวของยอดส่งออกสินค้าในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ตัวเลขการส่งออกเดือนล่าสุด ธ.ค. 2562 กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน โดยมีมูลค่ารวม 3,032 ล้านดอลลาร์ หรือ เพิ่มขึ้น 6.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดขายรถยนต์ในตลาดจีนเริ่มปรับตัวดีขึ้น ติดลบเพียงแค่ 0.1% ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในยุโรปเดือน ธ.ค. 2562 ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 เพิ่มขึ้น 18.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ประกอบกับค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดของปี 2562 ที่หลุดไปต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ โดยล่าสุด เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวแถวๆ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า และส่งสัญญาณพร้อมดูแลค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทเริ่มทรงตัวได้ดีขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ยอดขายเริ่มฟื้นตัว ผลประกอบการน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคงสะท้อนกลับมาที่ราคาหุ้น ซึ่งหากย้อนดูปีนี้ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 2.32% สวนทาง SET Index ที่ปรับตัวลดลงอยู่ 1.38%

สำหรับหุ้นที่น่าสนใจคงต้องมองไปที่หุ้นใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 3 ตัว หลักๆ ได้แก่ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเริ่มเห็นการเติบโตของยอดขาย แต่ลูกค้าในกลุ่มยานยนต์อาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ทำการออกแบบ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับกลุ่มยานยนต์ โทรคมนาคม ระบบงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการแพทย์ ฯลฯ ส่วนบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA เป็นผู้ให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร มีโรงงานอยู่ในหลายประเทศทั้งไทย จีน สหรัฐ และกัมพูชา จึงช่วยกระจายความเสี่ยง

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นดาวเด่นรับอานิสงส์สงครามการค้าที่คลายตัวในปีนี้ หลังตลาดเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เดือนธ.ค. 2562 ที่กลับมาเติบโตครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในจีนและยุโรปมีสัญญาณที่ดีขึ้น ส่วนค่าเงินบาทซึ่งกดดันผลการดำเนินงานของทั้งกลุ่มอย่างหนักในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มกำไรของกลุ่มที่อยู่ในการศึกษาเพื่อสะท้อนปัจจัยบวกดังกล่าว โดยปรับเพิ่มกำไรบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ปี 2563 ขึ้น 25% เป็น 1.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากปีก่อน และคาดกำไรปี 2564 ที่ 1.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% และปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปี 2563 ของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ขึ้น 6% เป็น 4.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน