เคล็ดลับ 3 ข้อ สื่อสารให้ได้ผล

เคล็ดลับ 3 ข้อ สื่อสารให้ได้ผล

เคล็ดไม่ลับ 3 ข้อ ที่จะทำให้การสื่อสารกับผู้อื่นได้ผล

การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมีความสำคัญมากมาทุกยุค ทุกสมัย เพราะถ้ามีความคิดดีแต่แบ่งปันไม่ได้ หรือไม่สามารถโน้มน้าวคนอื่นได้ก็คงไม่เกิดประโยชน์ 

คำกล่าว "มร.คาร์ไมน์ แกลโล" ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือการพูด เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว CNN เคยเขียนบทความลงในวารสารชั้นนำ และเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีระดับโลก "The Presentation Secrets of Steve Jobs" และ "Talk Like TED" เป็นต้น

เขายังบอกด้วยว่า "ทักษะการเขียน ก็คือ พื้นฐานสำคัญของการพูด"

ส่วนเทคนิค 3 ข้อของการสื่อสารให้เกิดผลที่ดี ประกอบด้วย 1.ต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไป 2.ต้องทำให้ง่ายไม่ซับซ้อน และ 3.ต้องทำให้คนจดจำได้

ข้อแรก เรื่องอารมณ์ความรู้สึกนั้น มร.คาร์ไมน์ บอกว่า Passsion เป็นเรื่องสำคัญ ต้องแสดงเข้าไปในทุกๆ การนำเสนอ

หมายถึงถ้าตัวคนพูดไม่รู้สึกมีแรงบันดาลใจ ลำพังยังผลักดันตัวเองไม่ได้ ก็คงไม่สามารถพูดผลักดันคนอื่นได้ ยกตัวอย่าง ผู้สื่อข่าวที่มักต้องการสัมภาษณ์ผู้ที่สามารถสร้างผลงานที่น่าตื่นเต้น ต้องการถามถึง Passsion ของเขา ซึ่งก็จะทำให้ผู้ที่ติดตามข่าวพลอยตื่นเต้นไปด้วย

"เวลาที่ต้องไปคุยกับใครสักคน ผมก็จะไม่ถามว่าเขาจบอะไร ตำแหน่งอะไร เพราะมันน่าเบื่อ
แต่จะถามว่าเขาชอบอะไร สนใจอะไรที่สุด คำถามแบบนี้จะทำให้คนเปิดเผยตัวเองออกมามากกว่า"

ข้อสอง การสื่อสารต้องง่ายไม่ซับซ้อน ต้องสื่อให้เป็นภาษาเดียวกันกับคนฟังและคนอ่าน ในฐานะที่เคยเป็นสื่อมวลชน มร.คาร์ไมน์ แกลโล บอกว่า ขอยกตัวอย่าง เป็นเรื่องของการพาดหัวข่าว ซึ่งคล้ายกับการส่งข้อความทางทวิตเตอร์ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่บังคับว่าต้องส่งข้อความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร หมายถึง ต้องเรียบเรียงสมองเพื่อให้ได้คำที่สั้น กระชับ เข้าใจได้ง่ายที่สุด เพื่อทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อออกไป

"คนที่ฉลาดมักจะมองภาพใหญ่ก่อนที่จะมองรายละเอียด การพาดหัวที่ลงรายละเอียดแทนที่จะเป็นภาพใหญ่จะทำให้คนสับสน และอาจกลายเป็นข่าวที่ไม่น่าสนใจ และต้องไม่มองข้ามว่าต้องทำให้ดูเป็นเรื่องง่าย ซึ่งมีนักขายประกันคนหนึ่ง ซึ่งอาชีพนี้มักไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ แต่สุดท้ายเขากลับเป็นนักขายมือทอง เมื่อถามเขาก็ได้คำตอบว่า ก็แค่ทำข้อมูลให้ดูเข้าใจง่ายๆ เพราะไม่มีใครอยากรู้เรื่องอะไรเยอะๆ เราก็ควรถามตัวเองว่ามีเรื่องอะไรที่อยากให้คนอื่นรู้เป็นพิเศษ ก็ให้จับเรื่องนั้นมานำเสนอเป็นหลัก"

หมายถึง จะไม่มีผลที่ดีหากพยายามที่จะบอกเล่าเรื่องราวเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ซึ่งเข้าข่าย "ยัดเยียด"

ข้อสาม การสื่อสารต้องทำให้คนจดจำได้ ถ้าจำไม่ได้ถือว่าไม่มีประโยชน์ และจะให้ดีต้องตระหนักถึงกฏเหล็กที่ว่าด้วยเลข 3 

"ผมเชื่อในกฏของเลข 3 เราอย่าทำอะไรเกิน 3 ข้อ และประสบการณ์ของผม พบว่ามีหลายๆ วัฒนธรรมที่มองว่าเลข 3 มีความสำคัญเช่นเดียวกัน อย่างเช่น ธงชาติของหลายๆ ประเทศก็มีอยู่ด้วยกัน 3 สี หรือตัวย่อของหลายๆ บริษัทที่มักมี 3 ตัวอักษร"

มีเหตุผลว่าเลข 3 มีจำนวนไม่มากไม่น้อย คนจำได้ การสื่อสารที่เยอะไปมักทำให้คนจดจำไม่ได้ และควรใช้รูปภาพมาประกอบในการพูดหรือการเขียน เพราะจะสร้างพลังในการจำได้มากกว่าให้มีการอ่านหรือการฟังเพียงอย่างเดียว

"รูปภาพจะช่วยให้คนสามารถจับประเด็นและจดจำได้ดีขึ้น
ถ้ามาฟังแล้ว ไม่มีรูปเลย ผู้ฟังจะมีข้อมูลกลับไปแค่ 10% แต่ถ้ามีภาพด้วยจะทำให้เขาจำได้ถึง 65%"

มร.คาร์ไมน์ แกลโล บอกว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับการสื่อสารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพช่วย ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจ ทว่าโลกปัจจุบันเป็นยุค Knowledge Economy ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความรู้ ความคิดของผู้คน ทิศทางของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้อะไร และมีข้อมูลมากน้อยแค่ไหน เพียงไร